วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทำอย่างไรเมื่อคนอื่นสั่งสอนลูกคุณ

คุณเคยเจอกับปัญหาที่มีเพื่อนหรือคนในครอบครัวถือวิสาสะสอนลูกคุณเมื่อเขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่? ลองมาดูวิธีที่คุณสามารถใช้ควบคุมสถานการณ์ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่นั่นกับลูกหรือไม่ก็ตาม
Mom discipline child ทำอย่างไรเมื่อคนอื่นสั่งสอนลูกคุณ
ทำอย่างไรเมื่อคนอื่นสั่งสอนลูกคุณ
การที่มีคนอื่นเข้ามายุ่มย่ามและสั่งสอนระเบียบวินัยให้ลูกของคุณเป็นเรื่องที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ในหมู่พ่อแม่ทั้งหลาย บางคนอาจคิดว่าคนอื่นพยายามที่จะเข้าแทรกแซงและล้ำเส้นเพื่อที่จะเข้าจัดการกับปัญหาของลูกคุณ ในขณะที่พ่อแม่หลายคนก็ยอมรับว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตของเด็ก
ขอบเขต
หากคุณรู้สึกไม่สบายใจที่มีคนอื่นมาสั่งสอนลูกคุณเพราะพวกเขาอาจเป็นคนในครอบครัวของคุณ เพื่อนของคุณ คนที่ทำงานในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือคนที่คุณไว้ใจและสร้างความสัมพันธ์ด้วย ถึงกระนั้นก็ตาม คุณก็ควรมีการกำหนดขอบเขตการที่คนอื่นจะสั่งสอนลูกของคุณและตัดสินใจทำโทษลูกของคุณ วิธีนี้จะช่วยให้คุณยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่
พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับระเบียบวินัย
ในฐานะที่เป็นแม่ ฉันได้ยินเสมอว่าลูกสาวของเราทำตัวดีมากเมื่ออยู่ที่บ้านเพื่อนของเขา แต่ก็ยังทำตัวไม่น่ารักเมื่ออยู่ที่บ้านของตัวเอง ไม่ว่าลูกจะมีพฤติกรรมดีหรือไม่ก็ตาม หรือว่าเธอจะรู้ขอบเขตของพฤติกรรมที่สามารถทำได้ ไม่ล้ำเส้นเมื่ออยู่บ้านคนอื่น ถึงอย่างนั้น เราควรจะพูดคุยกับพ่อแม่คนอื่นว่าหากลูกคุณก่อเรื่องขึ้นหรือมีเรื่องต้องสั่งสอนระเบียบวินัยกัน ควรขอให้การสั่งสอนหรือพูดคุยกับลูกเป็นการสนทนาที่มีการโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย เราควรแจงให้ลูกรู้ว่าอะไรที่เขาทำได้และอะไรที่เขาไม่ควรทำ เราควรรู้ว่าอะไรสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อลูกสาวของเราอยู่ที่อื่น หากสถานการณ์ย่ำแย่ลง เราต้องมั่นใจว่าพ่อแม่ของเพื่อนลูกจะโทรศัพท์หาเรา เราต้องการที่จะสั่งสอนระเบียบวินัยให้กับลูกของเราเอง และด้วยวิธีที่จะทำได้สำเร็จนั้นก็คือขอร้องให้คนอื่นโทรศัพท์หาเราเมื่อมีบางอย่างเกิดขึ้น วิธีนี้จะทำให้คนอื่นไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือล้ำเส้น และคุณก็ยังคงคุมสถานการณ์ของลูกคุณอยู่
นอกจากนี้ เราควรกระตุ้นให้ลูกบอกเราว่าเกิดอะไรขึ้นในระหว่างที่ลูกอยู่ที่บ้านเพื่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นและไม่มีการสั่งสอนวินัยให้กับลูกของคุณ คุณอาจบอกลูกว่าคุณคาดหวังว่าลูกจะทำตัวดีเมื่อลูกอยู่ที่อื่น บอกลูกว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่ไม่ควรทำ และบอกลูกว่าหากลูกต้องโทรศัพท์หาแม่ ให้ทำได้ทันที
“เสียง” ใหม่ที่มีอำนาจ
บางครั้งคุณก็สงสัยว่าทำไมลูกคุณถึงทำตัวตามที่คนอื่นสั่งสอนได้ดีกว่าการที่พ่อแม่สั่งสอนระเบียบวินัยให้กับลูก ถึงแม้ว่ามันจะไม่เพอร์เฟ็คก็ตาม มันเป็นข้อเท็จจริงง่าย ๆ นั่นคือ การฟังเสียงเดิม ถึงแม้ว่าจะแปร่งไปบ้าง มันก็ยังให้ความรู้สึกเดิม แต่เมื่อคุณฟังเสียงใหม่ที่แตกต่างออกไปและด้วยน้ำเสียงที่ไม่เหมือนเดิม มันจะทำให้หน้ามือกลับเปลี่ยนเป็นหลังมือได้ บางครั้ง นี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไม่พ่อแม่หลายคนถึงยอมให้คนอื่นสั่งสอนลูกของตัวเอง
.เข้าควบคุมสถานการณ์
ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อคนอื่นสั่งสอนลูกคุณในขณะที่คุณเองก็อยู่ที่นั่นด้วย มันอาจเป็นเรื่องที่ไม่สบอารมณ์สำหรับคนส่วนใหญ่ หลายคนอาจรู้สึกโมโหที่ผู้ใหญ่คนอื่นเข้ามาล่วงล้ำความสามารถของคุณในการจัดการกับสถานการณ์ และแทนที่จะเพิกเฉยต่อสถานการณ์ ให้คุณดูว่าขอบเขตของคุณอยู่ตรงไหน และอย่ากลัวที่จะสอนลูกคุณในที่สาธารณะถึงแม้ว่าจะมีสายตาหลายคู่มองคุณอยู่ในขณะนั้นก็ตาม หรืออาจมีความคิดเห็นจากคนอื่นว่าคุณควรสอนลูกคุณเมื่อเขาทำผิดอย่างไรก็ตาม
สำหรับเด็กแล้ว หากเขาได้รับการสั่งสอนโดยบุคคลอื่น คุณจะรู้ว่าเขาจะไม่ทำพฤติกรรมที่ผิดนั้นอีก เนื่องจากลูกคุณจะรู้ว่าเขาผิด โดยเฉพาะเมื่อมีคนอื่นมาจัดระเบียบวินัยให้กับเขา
ในท้ายที่สุด มันก็ขึ้นอยู่กับคุณล่ะ ยังไงลูกคุณก็หวังพึ่งคุณในการช่วยเขาสร้างกฎพื้นฐานทางสังคม เราแนะนำให้คุณบอกคนที่ช่วยดูแลลูกของคุณว่าอะไรที่ลูกทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้ในสายตาของคุณ
กรุณาบอกเราด้วยหากเคล็ดลับเหล่านี้ช่วยจัดการปัญหาในประเด็นที่มีคนอื่นช่วยสั่งสอนลูกของคุณ เรายินดีที่จะฟังความเห็นจากคุณ

ญี่ปุ่น: สอนเด็กให้มีคุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่ “อนุบาล”

กล่าวกันว่า ความเจริญของชาตินั้นแปรผันตรงกับคุณภาพประชากรในประเทศ ชาติใดที่พัฒนาแล้ว คุณภาพของคนในประเทศย่อมสูงตามไปด้วย คุณภาพที่ดีของประชากรเองก็มีที่มาจากระบบการศึกษา และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีหรือเหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องเริ่มกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลกันเลยทีเดียว
เหตุนี้เองปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของบมจ.ซีพี ออล์ จึงได้สนับสนุนการทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทยนับตั้งแต่ชั้นอนุบาล  โดยการสนับสนุนการทำวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาเปรียบเทียบ การจัดการศึกษาปฐมวัยในบริบทของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น” ของดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์
จากผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าระบบการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง ในการพัฒนา ศักยภาพของเด็กและมีส่วนสำคัญทำให้พวกเขาเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของชาติ โดยเราสามารถศึกษาจากอนุบาลในประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างได้ ดังนี้
shutterstock japan ญี่ปุ่น: สอนเด็กให้มีคุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่ “อนุบาล”
อนุบาลในญี่ปุ่นเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น
เรียนรู้ผ่านการเล่น
ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาความสามารถในการรู้คิดและพัฒนาการทางอารมณ์ผ่านกระบวนการเล่น นอกจากนี้ยังสนับสนุนการเล่นเป็นทีม โดยจะให้เด็กเล่นกันคละอายุและคละเพศ การเล่นเป็นกลุ่มจะสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง เด็กที่อายุมากกว่าต้องคอยดูแลเด็กเล็ก ทำให้มีทักษะในด้านการจัดการและความอดทนอดกลั้น  ในขณะที่เด็กเล็กเองก็จะยึดเด็กที่โตกว่าเป็นแบบอย่างหรือเป็นผู้นำ ถือเป็นการสร้างทักษะความเป็นผู้นำให้เด็กด้วยในทางหนึ่ง เด็กจะถูกสอนให้เข้าใจกระบวนการวางแผนโดยธรรมชาติ รู้จักจัดการการเล่นของตนให้มีทั้งความสนุกและมีความรับผิดชอบต่อผู้เล่นคนอื่นด้วย โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ใช่ผู้ออกคำสั่งหรือสอนหนังสือเด็กอย่างเดียว
จิตสำนึกสาธารณะ
ประเทศญี่ปุ่นถือว่า “จิตสำนึกสาธารณะ” เป็นปรัชญาหลักของการศึกษา การเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่นตั้งแต่วัยอนุบาลหรือปฐมวัยก็นับเป็นแนวทางหนึ่งในการปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกสาธารณะให้กับเด็กด้วย โดยการวิจัยพบว่าช่วงปฐมวัยของเด็กเป็นช่วงเวลาทองของการสร้างคนให้มีสำนึกสาธารณะ และจิตสำนึกสาธารณะที่เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าตนเองนั้น สามารถสร้างให้เกิดได้จริงผ่านกระบวนการเล่น  การเล่นที่ถูกออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ด้วยการคละอายุ เพศและกิจกรรมของเด็ก จะสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง รุ่นพี่รุ่นน้อง และเพื่อนต่างเพศ สอนทักษะการเข้าสังคม การอยู่ร่วมกัน ความเมตตาต่อกัน และที่สำคัญคือการทำงานเป็นกลุ่ม อันเป็นการปลูกฝังแนวคิดเรื่องจิตสำนึกสาธารณะได้ตั้งแต่วัยอนุบาลเลยทีเดียว
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
นอกจากนี้หลักสูตรการสอนระดับชั้นอนุบาลของญี่ปุ่นยังไม่เน้นวิชาการหนัก ๆ แต่เน้นความสำคัญที่จินตนาการและการเล่น โดยถือว่าการเรียนนั้นเรียนเพื่อให้รู้ ไม่ใช่เรียนไปเพื่อสอบ มีวิชาเรียนเพียง 6 ด้าน คือ พลานามัย สังคมศึกษา ธรรมชาติศึกษา ภาษา ดนตรีและจังหวะ และการวาดภาพและงานฝีมือ ในส่วนของของเล่นในชั้นเรียนก็เน้นให้เด็กเล่นแต่ชิ้นที่เรียบง่ายและกระตุ้นให้เกิดจินตนาการด้วย เช่น การต่อบล็อก การวาดภาพศิลปะ เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าการสอนเด็กอนุบาลในญี่ปุ่นนั้นจะต่างจากการสอนแบบไทย ที่ให้นักเรียนนั่งโต๊ะเรียน พยายามให้เด็กอ่านหนังสือให้ได้ จำให้ได้ เพื่อสอบเข้าชั้นป. 1 ให้ได้ ซึ่งนักวิชาการมองว่าเป็นการปิดกั้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก ปัญญาสมาพันธ์ฯ ได้เรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลและผู้ปกครองร่วมกันเปลี่ยนรูปแบบการสอน โดยใช้เด็กเป็นที่ตั้ง ประเมินผลงานของครูโดยการดูพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กมากกว่า