วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 4 เดือน


ฉลาดเรียนรู้      

                       สอนลูกเรียนรู้วินัย

การสอนลูกให้มีวินัย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก เด็กที่ไม่มีวินัยจะไม่สามารถควบคุมตนเองให้เรียนหนังสือ และปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือมารยาทของสังคมได้ ดังนั้นคุณแม่ควรฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ
วิธีที่ทำง่ายที่สุดเลย คือคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบให้เขาค่ะ สิ่งไหนที่เราอยากให้ลูกทำเราก็ต้องทำให้ดูค่ะ เช่น การอาบน้ำหรือกินข้าวให้เป็นเวลา เวลาลูกทำการบ้านที่ต้องนิ่งๆ หรือนั่งขีดเขียนนาน ๆ ต้องตกลงกันไว้ก่อนเลยว่าทำเสร็จถึงได้เล่น ไม่ควรอะลุ้มอล่วย เพราะเขาก็จะมีวิธีสร้างเงื่อนไขกับคุณแม่เรื่อยๆ
ส่วนเรื่องการช่วยเหลือตนเองด้านอื่นๆ คุณแม่ต้องทำทุกอย่างให้มีแบบแผน เช่น กลับมาถึงบ้าน จะทำอะไรก่อนหลัง เพื่อที่ง่ายต่อเขาด้วย ไม่ใช่ว่าเขาทำการบ้านเสร็จแล้ว กำลังเล่นเพลิน ๆ ก็มาจับอาบน้ำ หรือกลับถึงบ้านยังไม่ทำการบ้านจะจับลูกอาบน้ำซะแล้ว เด็กก็ไม่เกิดการเรียนรู้แล้ว
 เรื่องการมีวินัยนั้น ควรค่อยๆ ทำไปนะคะ เปลี่ยนแปลงกฎบ้างตามวัยที่โตขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติให้เหมือนกันและต้องหนักแน่นในสิ่งที่เราตั้งกฎไว้ค่ะ




ฉลาดเคลื่อนไหว

เล่นสนุกที่มือ.....ฉลาดที่สมอง

การที่เด็กได้ฝึกฝนการกล้ามเนื้อมัดเล็กของมือ จะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมอง และจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กจะพัฒนาไปได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  หากเด็กไม่มีโอกาสได้ใช้มือเพื่อเป็นการสื่อในการเรียนรู้  เพราะมือเป็นเสมือนครูที่สำคัญของเด็ก และเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่เขาได้ใช้มือให้มากๆ ค่ะ

ตัวอย่างกิจกรรมการใช้มือของเด็ก

  • ใช้มือสองข้างพร้อมกัน เช่น ทาแป้งตามตัว เล่นตบแปะ ติดกระดุม ร้อยเชือก 
  • เคลื่อนไหวนิ้วมือ เช่น ต่อบล็อกไม้ เสียบหมุดเป็นรูปต่างๆ 
  • ใช้มือและนิ้ว มือทั้งหมด เช่น ฉีกกระดาษ ปั้นดินน้ำมัน  เล่นดินเล่นทราย ละเลงสีด้วยมือและนิ้ว หรือใช้มือเล่นเงา  เช่น ทำเป็นรูปหมา รูปนกบิน งูเลื้อย ฯลฯ 
  • ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว เช่น ดีดลูกแก้ว ใช้นิ้วแตะและทากาว 
  • ใช้ข้อมือและ กล้ามเนื้อมือ  เช่น  ขีดเขียนด้วยสีเทียนหรือดินสอแท่งใหญ่ๆ การวาดภาพระบายสี  เปิดหน้าหนังสือ ตักอาหารด้วยตัวเอง ค้อนตอก เป็นต้น
การปล่อยให้ลูกได้ใช้มือเรียนรู้ สัมผัส และทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เท่ากับได้พัฒนากล้ามเนื้อมือ พัฒนาสมอง และการเรียนรู้ของลูก  เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมอัจฉริยะรอบด้านค่ะ

ฉลาดสื่อสาร

เล่านิทานต่างกับอ่านนิทานอย่างไร

คุณแม่ทราบไหมคะว่า การเล่านิทานและการอ่านนิทานนั้นมีความแตกต่างกัน
การ “เล่านิทาน” หมายถึง การที่คุณแม่พูดเล่าเรื่องราวในนิทาน โดยจะเล่าปากเปล่า หรือใช้ภาพในหนังสือประกอบการเล่าก็ได้ คำพูดอาจจะไม่ตรงกับข้อความในหนังสือ อาจจะมีบางส่วนเหมือนกันหรือคล้าย ๆ กัน การเล่านิทานให้ลูกฟัง จะช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องราว เป็นการขยายประสบการณ์ของเด็กเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ รอบตัวเขา และช่วยให้เด็กมีคำศัพท์และสำนวนต่างๆ มากขึ้น เป็นการช่วยให้ภาษายากๆ ในนิทานกลายเป็นการใช้คำง่าย ๆ ประโยคสั้นๆ แทน
ส่วนการ “อ่านนิทาน” หมายถึง การที่คุณแม่อ่านข้อความในหนังสือให้ลูกฟัง อาจใช้เสียงดัง-เบา สูง-ต่ำ เพื่อให้เรื่องที่อ่านสนุกสนานยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญจะต้องอ่านโดยไม่เพิ่มเติมคำพูดของตัวเองเข้าไป การฟังคุณแม่ อ่านนิทาน  ยิ่งถ้าได้เห็นตัวหนังสือ ภาพ และมองตามการชี้ตัวหนังสือที่กำลังอ่านไปด้วย จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการอ่าน-เขียนของเด็ก จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่า ตัวหนังสือหน้าตาแปลก ๆ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่แทนเสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำต่างๆ ลูกจะเริ่มสังเกตว่าตัวอักษรใดหรือคำใดแทนเสียงอะไร และเริ่มจำคำเหล่านั้นได้ ซึ่งความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้คือพื้นฐานของการอ่านเป็นคำ และการรู้จักตัวพยัญชนะ สระ ตัวสะกดและวรรณยุกต์ เพื่อประสมคำต่อไป
            การ “เล่านิทาน” และการ “อ่านนิทาน” จึงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมภาษาของเด็ก เด็กต้องเรียนรู้ภาษาพูดก่อน และเมื่อมีความสามารถในภาษาพูดพอสมควรแล้ว ก็จะเป็นฐานสำคัญให้สามารถเรียนรู้ภาษาเขียนหรือภาษาหนังสือต่อไป ดังนั้น ในเด็กเล็ก จึงมักจะเน้นการ “เล่านิทาน” มากกว่า ขณะที่เมื่อเด็กโตอย่างเด็กวัยนี้ขึ้น “การอ่านนิทาน” จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

                             เล่น...ให้ลูกอารมณ์ดีและหัวเราะได้

            ลูกของใครงอแง หรือเหน็ดเหนื่อยจากการเรียนช่วงเปิดเทอม จนคุณพ่อคุณแม่หัวหมุนไปด้วย ขอแนะนำวิธีทำให้ลูกอารมณ์ดีและหัวเราะได้ เพื่อให้ทั้งครอบครัวมีความสุขและอารมณ์ดีไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ
แค่อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างหมอนที่ใช้หนุนนอน เพียงแค่คุณแม่นำหมอนข้างหรือหมอนหนุนหัวเอามาลองตีเล่นกับลูก เพียงแค่นี้เขาก็รู้สึกสนุกอย่าบอกใครแล้วล่ะค่ะ แต่อย่าลืมเลือกหมอนนุ่มๆ ลูกจะได้ไม่เจ็บค่ะ
หรือคุณแม่อาจใช้วิธีการเล่าเรื่องสนุกๆ ตลกๆ ตอนที่ลูกยังเป็นทารกอยู่ เขาจะสนใจฟังเป็นพิเศษ อย่างเรื่องเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือเรื่องสนุกๆ ตลกๆ ต่างๆ หรือการผลัดกันทำเสียงต่างๆ แล้วให้อีกฝ่ายทายก็จะสร้างอารมณ์ที่ดีให้ลูกได้ค่ะ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 3 เดือน


ฉลาดเรียนรู้                  

เคล็ดลับเติมเต็มสมาธิ เพื่อการเรียนรู้

            มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า สมาธิสัมพันธ์กับสมอง เพราะเวลาเด็กนิ่งเป็นเวลานานระยะหนึ่ง สมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) จะเกิดการทำงานของคลื่นสมองแอลฟา (Alpha) ได้ดี ทำให้เด็กเกิดการจำ การเรียนรู้ และการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย สมาธิจึงสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของเด็กด้วย
            เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถส่งเสริมสมาธิให้ลูก เพื่อส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาทำได้ดังนี้
  •      เข้าใจธรรมชาติของลูกว่าวัยนี้มีพัฒนาการเรียนรู้และอารมณ์อย่างไร เพื่อเสริมกิจกรรมได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม
  •      จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์สมาธิ เช่น บ้านไม่รก ไม่มีเสียงรบกวน เป็นต้น
  •      ดนตรีและศิลปะเป็นกิจกรรมที่ชวนให้เด็กๆ เพลิดเพลินและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นาน
  •      การอ่านสร้างสมาธิให้ลูกได้ เพราะขณะที่ฟังนิทาน เขาได้มีโอกาสฝึกการใช้ประสาทสัมผัส การมองสีหน้า ท่าทางของพ่อแม่ขณะเล่า ฝึก ประสาททาง หู ในการฟัง และปากในการพูดตาม รวมทั้งการใช้สมาธิจดจ่อในเรื่องราวที่พ่อแม่เล่า ซึ่งเด็กจะจดจำเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างไม่น่าเชื่อ
  •      สนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่า ลูกชอบหรือสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น ลูกสนใจเรื่องไดโนเสาร์ แมลง ฯลฯ ก็ควรกระตุ้นความอยากรู้ ด้วยการตั้งคำถามและข้อสงสัย แล้วท้าทายให้ลูกแสวงหาคำตอบ เช่น ค้นคว้าจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต ไปตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สมาธิจดจ่อในการศึกษาเรื่องที่สนใจยาวนานขึ้นได้...เมื่อมีสมาธิการเรียนรู้ของเด็กก็จะเกิดได้อย่างเต็มที่ค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

ช่วยลูกพัฒนาระบบการทรงตัว

            เด็กบางคนที่มีปัญหาระบบการทรงตัว รักษาความสมดุลของร่างกาย จะแสดงออกมาให้เห็นคือ เขาจะมีความยากลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว การทำงานระบบการทรงตัว มีความยากลำบากในการใช้ร่างกายพร้อมกันสองซีก เช่น มือหนึ่งจับกระดาษให้นิ่ง อีกมือหนึ่งเขียนหนังสือ ซึ่งเด็กบางคนจะไม่สามารถบังคับสองด้านให้ทำงานร่วมกันได้หรือหกล้มบ่อย ทรงตัวไม่ดี หรือเด็กบางคนก็ชอบกิจกรรมการเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่กำลังค้นหาการทรงตัวนั่นคือ เด็กจะชอบกระโดดเคลื่อนไหว อยู่นิ่งๆ ไม่ได้  ซึ่งรวมไปถึงการสับสนในเรื่องหลักตำแหน่ง เช่น ซ้าย ขวา หรือ บน ล่าง
            คุณแม่ช่วยลูกในการพัฒนาระบบการทรงตัวของลูกได้ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถนำมาเล่นกับลูกได้ เช่น...
  • เล่นสไลด์เดอร์ 
  • เดินบนพื้นไม้ไม่เรียบ หรือบนพื้นไม้แคบๆ
  • การวิ่งเหยาะ
  • เล่นตีลังกา
  • นั่งชิงช้า กระโดดแทรมโพลีน
            กิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ลูกได้เล่นอย่างสนุกสนาน ได้ปลดปล่อยพลังงานแล้ว ยังเป็นการช่วยเด็กฝึกการทรงตัวด้วยค่ะ

 ฉลาดสื่อสาร

ศิลปะช่วยเพิ่มทักษะภาษาให้ลูกได้อย่างไร

            คุณแม่อาจจะคิดไม่ถึงว่า ศิลปะจะช่วยเพิ่มทักษะภาษาให้แก่ลูกได้ แต่ศิลปะส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็กได้จริงๆ และมีงานวิจัยรองรับในเรื่องนี้ค่ะ
            ในปี ค.ศ.1999 ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเด็กโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งใจกลางเมืองวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการสอนให้อ่านโดยใช้ศิลปะร่วมด้วย กลุ่มที่สอง ได้รับการสอนอ่านในหลักสูตรปกติ
            ผลจากการศึกษาในเวลา 7 เดือนที่สอนเด็กทั้ง 2 กลุ่มพบว่า เด็กนักเรียนที่ได้รับการสอนอ่านโดยใช้ศิลปะร่วมด้วย ทำคะแนนด้านการอ่านเพิ่มขึ้นจากก่อนการสอน ได้สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนในหลักสูตรปกติ
            สอดคล้องกับการศึกษาของ Allen Richard นักวิจัยการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Kentucky ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รายงานการสังเกตเด็กอนุบาลในชั้นเรียนที่มีการสอนศิลปะ ซึ่งเขาพบว่า ร้อยละ 90 ของเด็กอนุบาลที่ได้รับการสอนศิลปะ จะอ่านได้ดีหรือดีกว่าความสามารถในระดับอนุบาล โดยเด็กจะมองคำศัพท์ทั้งคำเหมือนกับว่าเขามองชิ้นงานศิลปะ แล้วให้ความหมายกับคำนั้นๆ และใช้กระบวนการนี้เช่นเดียวกันเมื่อเห็นประโยค ทำให้เด็กเหล่านี้อ่านออกและจับใจความได้อย่างรวดเร็วนั่นเอ
เพราะฉะนั้น ยังไม่สายค่ะที่จะให้ลูกได้เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องศิลปะ เพราะนอกจากจะได้คุณค่าในแง่ของสุนทรียภาพ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังจะให้คุณค่าต่อทักษะด้านภาษาของลูกด้วยค่ะ
                   

ฉลาดด้านอารมณ์                                              

ตอบคำถาม ช่วยแก้อารมณ์เสียลูก

            การช่างถามและขี้สงสัยเป็นธรรมชาติของเด็กค่ะ เด็กๆ หลายคนมักจะถามนั่นถามนี่และอยากรู้เรื่องรอบตัวตลอดเวลา จนบางครั้งคุณแม่อาจไม่ใส่ใจกับคำถามของลูกเพราะคิดว่าเด็กถามไปโดยไม่ได้ต้องการคำตอบ หรือคุณแม่มัวแต่คุยกับเพื่อน หรือใส่ใจกับสิ่งอื่นจนลืมตอบคำถามของลูก นั่นก็อาจทำให้ลูกอารมณ์เสียหรือโมโหได้
เพราะฉะนั้นคุณแม่ไม่ควรละเลยกับคำถามของลูก ควรตอบคำถามลูกบ้างเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อลูกถามเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิน เรื่องญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เรื่องของตัวเขาเอง ซึ่งการให้คำตอบกับลูก จะช่วยให้เขาได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่อยากรู้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญการตอบคำถามของคุณแม่ยังจะทำให้อารมณ์ของลูกดีขึ้นด้วยค่ะ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 1 เดือน


ฉลาดเรียนรู้                  

                       สอนลูกเข้าใจเรื่องเวลา

            ในวัย 4 ขวบ ลูกเริ่มรู้จักกิจวัตรประจำวันของตัวเองมากขึ้น เริ่มทำทุกอย่างได้เองแบบอัตโนมัติ อย่างเช่น หลังอาบน้ำ เขาก็จะไปหยิบแปรงสีฟันมาแปรงฟันเองโดยคุณแม่ไม่ต้องบอกซ้ำ หรือพอใส่ชุดนอนเรียบร้อย เขาก็จะหยิบนิทานหนึ่งเล่มมาทิ้งไว้บนเตียง รอคุณแม่มาอ่านให้ฟังก่อนนอน
การที่เขารู้จักทำกิจวัตรประจำวันในแต่ละเวลา นั่นแสดงให้เห็นว่าลูกเริ่มเรียนรู้เรื่องของเวลาบ้างแล้วค่ะ คือ เริ่มรู้แล้วว่ามีกลางคืนไว้นอน ตื่นมาก็เจอกลางวัน พรุ่งนี้แปลว่าอะไร และอีกไม่นานเขาก็จะเริ่มเข้าใจว่าอีกหนึ่งชั่วโมงกับอีกไม่กี่นาทีต่างกันยังไง คุณแม่สามารถกระตุ้นให้ลูกเรียนรู้เรื่องเวลามากยิ่งขึ้น โดยการพยายามทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตรต่อไปเรื่อยๆ  เช่น เมื่อลูกอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ บอกกับเขาว่าแล้วเราจะไปห้องสมุดกันนะคะ เราจะอยู่ที่นี่สักหนึ่งชั่วโมงแล้วไปตัดผมกันต่อนะจ๊ะ หรือบอกเขาว่าแม่จะพาลูกไปตลาดสัก 1 ชั่วโมง จากนั้นก็กลับบ้านทำกับข้าวอีกประมาณครึ่งชั่วโมงคุณพ่อก็จะกลับมาจากที่ทำงานพอดี หรือสอนให้ลูกรู้จักนับวันรอให้เป็น เช่น อีก 7 วันจะถึงวันเกิดคุณพ่อแล้ว เขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเวลาเพิ่มมากขึ้น รู้จักนับวันว่าอีกนานแค่ไหนที่จะถึงวันที่เขารอ ฝึกบ่อยๆ ลูกก็จะเรียนรู้และเข้าใจค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

เคล็ดลับชวนเด็กน้อยเล่นกีฬา

กีฬาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อของลูกน้อยให้เติบโตอย่างเต็มที่ แต่เด็กวัยนี้มักไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับอะไรนานๆ ถ้าอย่างนั้นต้องหากลวิธีที่จะชวนลูกให้สนใจหันมาเล่นกีฬากันค่ะ
  • สร้างทัศนคติที่ดี ด้วยการพูดคุยให้ความรู้เรื่องกีฬาหรือพาเขาไปดูการแข่งขันกีฬา เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เขารู้จักและชื่นชอบกีฬาไปทีละน้อย ที่สำคัญจะได้ดูว่าเขาชอบกีฬาอะไร หรือกีฬาประเภทไหนที่เหมาะกับเขา
  • สร้างบรรยากาศ ด้วยการออกไปออกกำลังกายหรือเล่นกีฬานอกบ้านบ้าง อาจจะเป็นสวนสาธารณะหรือสนามก็ได้ การได้เปลี่ยนสถานที่ ได้พบเจอเพื่อนใหม่ จะทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นและกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ลูกจะมีความสุขและเล่นกีฬาได้นานมากขึ้น
  • เล่นด้วยกัน ลองสร้างกิจกรรมสนุกๆ แล้วชวนเพื่อนบ้าน หรือคนในครอบครัวมาเล่นด้วยกัน จะวิ่งไล่จับ ขี่จักรยานรอบหมู่บ้าน เล่นฟุตบอล หรือว่ายน้ำ หรือกีฬาที่ลูกชอบ ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีกับการเล่นกีฬาและสนุกกับกีฬาได้ทุกครั้ง
  • เล่นแบบสบายๆ ไม่บังคับหรือแข่งขัน ในช่วงเริ่มต้นเด็กๆ มักจะเล่นได้ไม่นานนัก อย่าบังคับ ปล่อยให้เขาได้เล่นตามสบาย จะได้รู้สึกสนุกและเล่นได้นานขึ้นเอง ที่สำคัญไม่ควรเน้นการแข่งขัน เพราะจะเป็นการสร้างแรงกดดัน ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สนุกและไม่อยากเล่นอีกเลย
  • เมื่อมีเวลา ลองชวนเจ้าตัวน้อยไปเล่นกีฬากันนะคะ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อต่างๆ ของลูกให้แข็งแรงแล้ว ยังเป็นการสอนให้รู้จักเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมกับผู้อื่น รู้จักกฎกติกาด้วยค่ะ

ฉลาดสื่อสาร

                                        แก้ปัญหาลูกพูดคำหยาบตามเพื่อน

            ปัญหาลูกพูดหยาบตามเพื่อน เกิดขึ้นได้กับเด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนแล้ว แม้ว่าลูกจะไม่รู้ความหมายของคำที่พูด แต่อาจจะได้ยินได้ฟังเพื่อนพูดก็พูดตามๆ กันไป จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องสอนลูกในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาในการสื่อสารของลูกค่ะ
  • เมื่อได้ยินลูกพูดคำหยาบ ให้ตั้งสติดีๆ อย่าเผลอดุว่าลูกไปก่อน แต่ให้บอกลูกสั้นๆ อย่างหนักแน่นว่า “เราจะไม่พูดคำหยาบกันนะลูก คำนี้เป็นคำหยาบ” โดยชี้ให้ลูกเข้าใจเป็นคำๆ ว่า คำไหนที่หยาบคาย
  • สังเกตและเก็บข้อมูลว่าลูกพูดคำหยาบบ่อยไหม และแหล่งที่มาของคำหยาบเหล่านั้นน่าจะมาจากไหน เช่น ติดจากเพื่อนที่โรงเรียน จากการ์ตูนในโทรทัศน์ หรือว่าจากผู้ใหญ่ในบ้าน แล้วแก้ที่สาเหตุ เช่น ตักเตือนผู้ใหญ่ให้ระมัดระวังคำพูดเมื่อมีเด็กอยู่ใกล้ เลือกรายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับวัยของลูก เป็นต้น
  • ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้คำพูดที่ไพเราะ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีคำหยาบคายหรือไม่สุภาพ
  • ใช้เทคนิคอื่นในการช่วยปรับพฤติกรรมมาช่วย เช่น หนังสือนิทานคำกลอนสอนเด็ก เล่านิทานคุณธรรม ที่ตัวละครใช้คำพูดที่ดีเพื่อให้ลูกรู้สึกประทับใจตัวละครที่เรียบร้อย พูดไพเราะ
            เด็กในวัยนี้ชอบการเลียนแบบ อาจยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีและชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควรให้แก่ลูก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้แต่สิ่งที่ดี ที่สำคัญการแก้ปัญหาพฤติกรรมต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง จึงจะเกิดผลที่ยั่งยืนค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์                                  

          แก้ปัญหาลูกอาละวาดเมื่อออกนอกบ้าน

คุณแม่คงจะกลุ้มใจไม่น้อยเมื่อเวลาที่ต้องออกไปนอกบ้านแล้วลูกมักกลายเป็นเด็กที่ขี้โมโห งอแงอาละวาดตลอดเวลา จนบางครั้งคุณแม่ยังทำธุระไม่เสร็จก็ต้องรีบกลับบ้าน อาการแบบนี้จริงๆ เกิดจากความเบื่อซึ่งคุณแม่สามารถรับมือได้ โดยการให้ความสนใจกับเขาค่ะ
คุณแม่จะพบว่าบางครั้งแค่พาออกไปซื้อของที่ร้านขายของชำหรือห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ ลูกก็เริ่มจะโมโหแล้ว ไม่ใช่เพราะเห็นของต่างๆ แล้วอยากได้นะคะ แต่ส่วนมากเป็นเพราะการต้องนั่งในรถเข็นนานๆ หรือเดินตามแม่ซื้อของ เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เพราะแม่ไม่ให้เขาได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของแม่  ดังนั้น คุณแม่ควร...
  • ชวนลูกคุยบ่อยๆ  เช่น ถามความคิดของเขาเกี่ยวกับของที่คุณกำลังเลือกซื้อ ให้ลูกช่วยวางของใส่รถเข็น หรือจะสอนลูกเกี่ยวกับชื่อและชนิดของผัก ผลไม้ หรือสิ่งของที่กำลังซื้ออยู่ก็ได้  สอนการดูราคา
  • ติดของเล่นลูกไปด้วย  เวลาที่คุณแม่จะออกไปไหนก็ตามที่ต้องพาลูกออกไปรอด้วย ก็อย่าลืมหาของเล่นที่ลูกชอบติดไม้ติดมือไปทุกครั้ง เพื่อให้ลูกได้เล่นขณะรอคุณแม่ค่ะ
  • บางครั้งการที่ลูกขี้โมโห งอแง อาละวาดนั้น อาจไม่ใช่เพราะเบื่อ แต่หลายครั้งก็เป็นเพราะเขาหิว เพราะฉะนั้นพยายามหาขนม หรืออาหารว่างที่มีประโยชน์และพกพาง่ายติดตัวไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อออกไปข้างนอก อย่างน้อยมีพกไว้ก่อนก็ดีกว่าต้องไปกุลีกุจอหาซื้อเอาข้างนอกตอนลูกเริ่มโมโหสุดขีด แบบนั้นคงวุ่นน่าดูค่ะ
เมื่อคุณแม่ได้ใส่ใจที่แก้ไขปัญหา ลูกก็จะมีความฉลาดทางอารมณ์ได้ไม่ยากค่ะ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 2 เดือน

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 2 เดือน

ฉลาดเรียนรู้                  

                         สอนลูกเรียนรู้ค่าจำนวนนับ

ในความคิดของเด็ก  “จำนวน” เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ลูกจะไม่รู้ว่า “สาม” คืออะไร หากมันไม่ได้อยู่ในรูปของ “ส้ม 3 ใบ” “ไก่ 3 ตัว”  เด็กวัย 4-5 ปี  พัฒนาการด้านการคิดและสติปัญญาอยู่ในขั้นที่สามารถนับเลขได้ 1-10 แต่รู้ค่าจำนวนเพียง 1-5 เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกเล่นฝึกหัดนับสิ่งของ และหยิบของตามจำนวน 1-5 ชิ้น (เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ)  ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น นับจำนวนส้มในตะกร้า นับจำนวนของเล่นของลูก เป็นต้น
เมื่อชวนกันนับจนลูกพอจะเข้าใจแล้ว  จากนั้นลองให้โจทย์ลูกนับเองว่ามีขนมกี่ชิ้นในจาน  มีดอกไม้กี่ดอกในแจกัน ฯลฯ  และขยับโจทย์ให้ยากขึ้นมาอีกว่า หยิบส้มให้แม่ 3 ผล  เอาบล็อก 4 ชิ้นใส่ตะกร้า เป็นต้น ลูกจะค่อยๆ เข้าใจในค่าของจำนวนนับค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

สร้างเสริมพัฒนาการผ่านการปั้น แกะ ตัด พับ

            พัฒนาการของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่เริ่มหัดอ่านหัดเขียนกันแล้ว ซึ่งก่อนที่เด็กจะสามารถจับและควบคุมอุปกรณ์การเขียนได้นั้น เขาจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีของส่วนต่างๆ ทั้งสมอง สายตา และมือ ให้สามารถควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กภายในมือได้เสียก่อน ซึ่งคุณแม่สามารถหากิจกรรมสนุกๆ ชวนลูกสนุกกับการใช้มือ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้ไม่ยาก เช่น
ปั้น : ไม่ว่าจะปั้นด้วยแป้งโดว์หรือดินน้ำมัน ล้วนช่วยให้ลูกได้ใช้ทั้งฝ่ามือและนิ้วทุกนิ้วในการปั้น คลึง นวด ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือที่ช่วยสอนปั้นแป้งเป็นรูปสัตว์หรือตัวการ์ตูนน่ารักๆ หลากหลาย ให้คุณแม่สามารถนำมาชวนลูกเล่นได้ไม่ยากค่ะ 
แกะๆ ลอกๆ : การเล่นแปะสติกเกอร์จะช่วยให้ลูกได้ใช้นิ้ว ในการ แกะ ลอก แผ่นกระดาษออกจากสติ๊กเกอร์ แล้วค่อยๆ แปะลงไปบนสมุด คุณแม่อาจชวนลูกสะสมสติกเกอร์ลายโปรด หรือหาหนังสือนิทานที่มีสติกเกอร์แถมมาให้ลูกอ่านและเล่นก็ได้ค่ะ
ตัด : การตัดกระดาษจะช่วยให้เด็กๆ สามารถใช้นิ้วควบคุมการเคลื่อนที่ของกรรไกรไปตามรูปทรงต่างๆ ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกกรรไกรตัดกระดาษปลายมนสำหรับเด็กมาให้ลูกหัดตัดกระดาษเล่นได้โดยไม่ห่วงเรื่องอันตราย
พับ : ลูกจะได้เพลิดเพลินไปกับการใช้นิ้วและ มือ เพื่อจับ พับ และเรียนรู้เรื่องรูปทรงต่างๆ เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม การแบ่งครึ่ง รวมไปถึงการสร้างสรรค์ของเล่นด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพับจรวด พับนก พับดาว แบบง่ายๆ
            เรียกว่า ได้ทั้งความสนุก ได้พัฒนาการทำงานประสานกันของสมอง มือ และตา ได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว ยังได้ความภาคภูมิใจจากผลงานของตนเองอีกด้วย

ฉลาดสื่อสาร

                         ตั้งคำถาม...ฝึกลูกคิดและสื่อสารกลับ

เราสามารถนำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของลูกมาใช้เพื่อฝึกทักษะด้านการสื่อสารให้เขาได้มากมาย รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ให้เด็ก เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ โดยทุกครั้งที่พูดคุย หรืออ่านหนังสือกับลูก ให้ถือโอกาสตั้งคำถามท้าทายให้ลูกคิดต่อ โดยใช้คำถามปลายเปิด ซึ่งเป็นคำถามที่มีคำตอบหลากหลาย ไม่มีผิด ไม่มีถูก ต้องอาศัยจินตนาการของเด็ก เช่น
“ถ้าโลกนี้ไม่มีไฟฟ้า ลูกคิดว่าโลกจะเป็นอย่างไร”
“ถ้าลูกมีปีก แต่คนอื่นไม่มี ลูกจะรู้สึกอย่างไร”
“ถ้าทุกคนมีตาเหมือนนกฮูก ยกเว้นตัวเรา เราจะรู้สึกอย่างไร”
ด้วยคำถามลักษณะนี้ สมองของเด็กจะทำงาน ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และสติปัญญา เพราะเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบหลากหลาย ไร้ขอบเขต ไม่มีถูก-ผิด เป็นคำถามให้เด็กกล้าคิด กล้าตอบ เป็นตัวของตัวเอง และรู้จักวิธีการตอบเพื่อจะสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งวิธีนี้คุณแม่ควรจะได้นำมาเล่นกับลูกบ่อยๆ ค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์                      

ปรับอารมณ์ลูกเล่นรุนแรง

          หลายครั้งที่คุณแม่ไม่สบายใจที่เห็นลูกเล่นกับเพื่อนแบบรุนแรง ซึ่งการที่ลูกเล่นแรงๆ น่าจะมีสาเหตุมาจากการเห็นคนรอบข้างเล่นกับเด็กแบบแรงๆ ทำ ให้เด็กเกิดการจดจำ และนำมาทำกับผู้อื่นเมื่อมีโอกาส คือเล่นแรงๆ กับเพื่อนๆ   ส่วนอีกสาเหตุน่าจะเกิดจากที่เด็กไม่รู้ว่าเล่นแบบไหนแค่ไหนแรงหรือไม่แรง ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ น่าจะเริ่มมาจากคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องฝึกเล่นและสอนให้ลูกเล่นเป็น โดยต้องเล่นกับลูกแบบเบาๆ ไม่ใช้ความรุนแรง และเมื่อลูกเล่นด้วยแรงกลับมา คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนว่าการลงแรงแบบที่ลูกทำนั้นจะทำให้ผู้อื่นเจ็บได้ และถ้าเล่นแรงๆ แบบนี้บ่อยๆ ลูกก็จะไม่มีเพื่อนเล่นอีกต่อไป ลูกต้องรู้จักใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่นด้วย
            นอกจากนี้เลียนแบบคนใกล้ตัวแล้ว  บางครั้งลูกอาจเอาอย่างในสื่อ เช่น ในละคร  เมื่อเห็นตัวละครตบตีกัน เด็กก็จะเลียนแบบ ไม่นานจะเข้าเป็นลักษณะประจำตัว คุณแม่ต้องบอกลูกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ และเล่นแบบนี้ก็ไม่ได้ เวลาเห็นลูกไปรังแกคนอื่นต้องบอกว่า วิธีนี้ไม่ถูกต้อง ลูกไม่ควรทำอย่างนี้ รวมถึงเวลาที่ดูโทรทัศน์ คุณแม่ควรเลือกรายการที่ประโยชน์และคอยอยู่ใกล้ ๆ อธิบายให้ลูกฟังถึงสิ่งที่เขากำลังดูอยู่ค่ะ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี


ฉลาดเรียนรู้                  

                เคล็ดลับพัฒนาความจำลูกน้อย 

เด็กวัย 4 ขวบพัฒนาการด้านต่างๆ กำลังรุดหน้า และเป็นวัยที่ลูกก้าวสู่โลกแห่งการเรียนรู้สังคมนอกบ้าน นับเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา ที่คุณพ่อคุณแม่น่าจะใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมให้กับลูก  โดยเฉพาะในเรื่อง “ความจำ”  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเก็บรวบรวมข้อมูลความรู้ต่างๆ ไว้ในคลังสมองของเขา เพื่อนำมาใช้ในการต่อยอดการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม  การจัดระบบความจำยังไม่ค่อยดีนัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเหลือลูกในเรื่องนี้  ซึ่งทำได้โดย...
  • จดจำเป็น ‘ภาพ’  - เด็กวัยนี้รับรู้ทางสายตาได้ดี  ดังนั้น การใช้กิจกรรมที่มีภาพเป็นสื่อจึงเหมาะอย่างยิ่ง กิจกรรมง่ายๆ ที่จะช่วยให้ลูกมีความจำดี  เช่น เกมจับคู่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกมจับคู่ภาพกับเงา  จับคู่ตัวเลข  จับคู่ภาพกับพยัญชนะ จับคู่ภาพกับเสียงต่างๆ เป็นต้น
  • บรรยากาศต้องสนุก - บรรยากาศการเรียนรู้ส่งผลต่อความจำของลูกวัยนี้อย่างมาก เพราะถ้าไม่สนุก ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจให้ลูกจดจำ ในทางตรงกันข้าม หากกิจกรรมการเรียนรู้นั้นยิ่งสนุก ลูกจะยิ่งจดจำได้ติดแน่นและนานมากขึ้น
  • ทำซ้ำๆ บ่อยๆ -  เพราะเด็กๆ เรียนรู้จากการทำซ้ำๆ บ่อยๆ
  • ประสบการณ์ สร้างการจดจำ - การได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ การได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ บ้าง จะช่วยให้ลูกจดจำได้เช่นกัน  สังเกตได้จากลูกวัยอนุบาลที่มักจะมีเรื่องที่โรงเรียนมาเล่าให้คุณแม่ฟังบ่อยๆ ถึงคุณครู และเพื่อนๆ ว่าเป็นอย่างไร  เพราฉะนั้น หลังลูกกลับจากโรงเรียนคุณพ่อคุณแม่จึงควรตั้งคำถามกับลูก เพื่อให้เขาได้จัดความจำให้เป็นระบบ เป็นเรื่องๆ เพื่อตอบคำถามตามโจทย์ของคุณพ่อคุณแม่
      เหล่านี้ ล้วนเป็นความจำที่เกิดจากความประทับใจ และตราไว้ในความทรงจำ (หรือสมองน้อยๆ ของลูก) แล้วสมองของลูกก็จะพัฒนาสู่อัจฉริยะรอบด้านได้ไม่ยากค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

                          สอนลูกว่ายน้ำ พัฒนาการเคลื่อนไหว

ลูกวัยนี้พร้อมสำหรับการฝึกว่ายน้ำเต็มที่ การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แข็งแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีเมื่อต้องเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ  เช่น เดิน วิ่ง หรือเขียนหนังสือ ซึ่งลูกจะทำได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ออกกำลังกายตั้งแต่เล็ก ๆ
            การว่ายน้ำจะช่วยให้ลูกมีทักษะในการลอยตัว ทำให้เด็กสามารถลอยตัวในน้ำได้ โดยระยะแรกเริ่มจากการใส่ปลอกแขนก่อน แล้วเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจึงพัฒนาไปใช้ห่วงยางสำหรับว่ายน้ำได้ถูกต้อง รวมทั้งมีทักษะในการเตะเท้า โดยฝึกให้เด็กเตะเท้าไปในทิศทางที่ต้องการได้ เด็กจะมีพื้นฐานในการเตะเท้าได้ตรง เท้าจะไม่งอ ขาจะไม่เกร็งเวลาเตะเท้า ตัวจะไม่เอียงเวลาว่ายน้ำ ตัวไม่เกร็งเวลาลงน้ำ เพราะได้รับการฝึกพื้นฐานมาดีแล้ว
            คุณแม่ควรหาโอกาสพาลูกวัยนี้ไปว่ายน้ำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง โดยเน้นการสอนที่สนุกสนาน ไม่กดดัน ใจเย็น เพื่อให้ลูกมีความกล้า และมั่นใจ ลูกจะมีความสุข สุขภาพแข็งแรง และมีการเคลื่อนไหวที่ดีค่ะ

 ฉลาดสื่อสาร                

สอนลูกเข้าใจเรื่องจังหวะการพูดรับ-ส่ง

            ในช่วงวัยนี้ ลูกจะมีพัฒนาการทางภาษาเพิ่มขึ้น ลูกจะเริ่มเข้าใจถึงประโยชน์ของภาษาในด้านสังคม เขาเริ่มรู้ว่า ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่เอาไว้แสดงออกถึงความคิดและความรู้สึกของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางที่ทำให้เขาเข้าสังคมกับคนอื่นได้ด้วยในรูปแบบของการสื่อสาร 2 ทาง ดังนั้นการพูดคุยกับลูกด้วยบทสนทนาง่ายๆ นอกจากจะทำให้ลูกเรียนรู้ด้านภาษาได้เร็วแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ลูกเข้าใจจังหวะของการรับและส่งได้เร็วขึ้น ในขณะที่คุณแม่พูด ลูกจะจ้องมองหน้าคุณแม่และฟัง และลูกก็จะคิดว่า แม่พูดเสร็จแล้ว ต่อไปก็ตาหนูบ้างล่ะ 
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เขาจะเข้าใจในสิ่งที่คุณแม่พยายามสื่อสารมากขึ้น คุณแม่สามารถบอกเขาได้แล้วว่า แม่พูดเสร็จแล้ว ตาหนูพูดบ้าง จะทำให้เขาเข้าใจและรู้จักวิธีรับส่งในการสื่อสาร  ซึ่งต่อไปเขาจะได้เรียนรู้ถึงมารยาทในสังคมที่ต้องมีการรอคอยอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเขาจะได้ไปเจอด้วยตนเองในกลุ่มสังคมของเขา 
การที่ลูกต้องปรับทักษะในการพูด และการเล่น เมื่อต้องเข้าสังคมกับเพื่อนจริงๆ แม้ว่าในช่วงแรกอาจดูเป็นเรื่องยาก แต่พฤติกรรมของเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกันก็จะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เรื่องการผลัดกันและการรอคอยค่อนข้างมาก และเมื่อโตขึ้น เขาจะเริ่มเข้าใจแล้วว่ามีเรื่องมากมายที่เขาจำเป็นต้องผลัดกันรอ ผลัดกันพูด หรือผลัดกันเล่น เพียงแค่เขารอคอยอีกแป๊บเดียว เขาก็จะได้เล่นอย่างสนุกและมีความสุขเหมือนเพื่อนๆ แล้วค่ะ 

ฉลาดด้านอารมณ์                      

สอนลูกเรียนรู้การแพ้ชนะ

คุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าในความเป็นจริงมีโลกการแข่งขัน มีทั้งแพ้และชนะ ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่ยุคนี้มักจะพะวงกลัวลูกแพ้ และกังวลต่อไปอีกว่ากลัวลูกแพ้ไม่เป็น ก็เลยพยายามจะหาวิธีสอนให้ลูกได้เรียนรู้จักความ “แพ้” แต่ที่จริงการเรียนรู้เรื่อง “ชนะ” ก็มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะการชนะก็สอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ได้มากมาย
          คุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าการชนะในวันนี้ไม่ได้หมายว่าความจะชนะตลอดไป เพราะเมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโอกาสชนะและแพ้ได้เท่าๆ กัน นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกไม่ซ้ำเติมคนแพ้ แต่ต้องยกย่องความเป็นนักสู้ของผู้แพ้ด้วย เช่น การแสดงความมีน้ำใจนักกีฬาด้วยการให้ลูกไปจับมือชื่นชมผู้แพ้ว่าอีกฝ่ายก็เก่งมากเช่นกัน และควรสอนให้ลูกไม่ยึดติดหรือถือดีว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ
          คุณแม่สามารถเปลี่ยนเรื่องที่ลูกชนะให้กลายเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องอื่นๆ หรือเสริมสร้างศักยภาพของลูกให้ถูกทาง เพราะเขาอาจจะค้นพบทางที่เขาถนัดและมีความสุขก็ได้ เช่น ลูกได้รับรางวัลเรื่องงานศิลปะก็อาจส่งเสริมต่อยอดความสามารถของเขา และสิ่งสำคัญที่คุณแม่สามารถปลูกฝังและสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องชนะคือความมุ่งมั่น ความอดทน ความพยายามอย่างสร้างสรรค์ และฝึกให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน แล้วลูกก็จะแพ้ได้ ชนะได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ของเขาค่ะ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 3 ปี 11เดือน


ฉลาดเรียนรู้                  

 เรียนรู้สร้างสรรค์เสียงดนตรีจากสิ่งใกล้ตัว

ดนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่อยู่ในสิ่งที่แวดล้อมเรา จึงขอชวนคุณแม่พาลูกมาสร้างเสียงดนตรีหลากหลายเสียงจากของใกล้ตัวกันอย่างแก้วน้ำกันดีกว่า 
วิธีเล่นง่ายๆ  เพียงนำแก้วน้ำที่มีลักษณะเหมือนกัน 6 ใบ ใส่น้ำตามระดับจากมากไปหาน้อย  วางเรียงกัน  จากนั้นให้ลูกนำช้อนหรือปากกามาเคาะที่แก้ว  ระดับเสียงดนตรีที่แตกต่างกันตามระดับน้ำในขวดก็จะเกิดขึ้น ให้ลูกฟังเสียงดีๆ สิว่า น้ำมากกับน้ำน้อยให้เสียงสูงเสียงทุ้มแตกต่างกันอย่างไร นั่นคือ ลูกจะเรียนรู้ได้ว่าหากน้ำน้อยจะทำให้เกิดเสียงสูง ในขณะที่น้ำมากทำให้เกิดเสียงทุ้มต่ำ
หรือให้ลูกนำกระป๋องใส่ถั่ว ใส่ทรายมาเขย่าให้สนุกแทนลูกแซค  นำฝาหม้อมาตีแทนฉาบ หรือเอาหม้อ กะละมังมาตีแทนกลอง  นำของใช้ในครัวมาทำเป็นโมบายใช้ตีแทนนิ้งหน่อง  เป็นต้น หรือให้ลูกลองคิดว่าเขาจะใช้สิ่งของอะไรแทนดนตรีอะไร ก็จะช่วยฝึกกระบวนการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกน้อย  รับรองลูกสนุกกับจังหวะและดนตรีจากสิ่งของใกล้ตัวนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานของสมองลูกด้วยค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว            

พัฒนากล้ามเนื้อกับการกระโดดเชือก

            การกระโดดเชือก เป็นการออกกำลังกายที่แสนง่ายโดยที่คุณแม่อาจจะไม่ต้องสอนอะไรลูกน้อยมากมายนัก อาจจะเริ่มต้นแนะนำวิธีการเล่นในช่วงแรก  เมื่อลูกได้ลองหัดเล่น ในไม่ช้าเขาจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
การเล่นกระโดดเชือกนั้น ลูกจะได้เรียนรู้ถึงจังหวะการเคลื่อนไหวของขาและแขน เพื่อให้ทำงานประสานกัน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ กระดูก เพิ่มเรี่ยวแรงและความทนทานของลูกมากขึ้น
นอกจากจะเป็นกีฬาที่ใช้เชือกซึ่งเป็นอุปกรณ์ราคาถูกแล้ว ลูกยังจะได้ความสนุกและได้ประโยชน์ในการออกกำลังกายด้วย คุณแม่อาจชวนลูกกระโดดเล่นสลับกัน หรือชักชวนเพื่อนๆ ลูกมาเล่นด้วยกันหลายๆ คน  จะทำให้ลูกรู้สึกสนุกสนาน ได้ออกกำลังกาย และการเล่นกับเพื่อน ลูกยังจะได้เพิ่มพัฒนาทักษะทางสังคมอีกด้วยค่ะ

ฉลาดสื่อสาร                 

เพื่อนในจินตนาการ...ช่วยพัฒนาทักษะสื่อสารของลูก

            เพื่อนในจินตนาการของเด็ก ไม่ใช่เรื่องผิดปกติค่ะ เป็นสิ่งที่เด็กสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยของเขา เนื่องจากวัยนี้เด็กเริ่มมีพัฒนาการทางการสื่อสาร แต่การจะอธิบายความรู้สึกแก่พ่อแม่หรือผู้คนรอบข้างนั้นอาจทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากเขายังมีคำในคลังคำศัพท์ไม่มากพอ
การมีเพื่อนในจินตนาการจะช่วยให้ลูกมีทางออกด้วยการระบายความในใจ ช่วยให้เขาสามารถรับมือกับอารมณ์ที่ขุ่นมัวเศร้าหมองได้ดียิ่งขึ้น และหากมองในแง่ดีแล้ว  เท่ากับลูกมีพัฒนาการด้านจินตนาการที่ดีมาก และช่วยให้ลูกได้พัฒนาทักษะทางการสื่อสารได้ดีขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถอาศัยเพื่อนในจินตนาการนั้นเข้าถึงจิตใจของลูกได้มากขึ้นด้วย
            ถ้าลูกทำผิดแล้วโทษว่าเป็นฝีมือของเพื่อนในจินตนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กแนะนำว่า ไม่ควรทำโทษลูกด้วยการว่ากล่าวจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ควรอธิบายถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ในบ้านอีกครั้ง และช่วยกันแก้ไขสิ่งที่ลูกทำผิดนั้นเสีย การกล่าวหาลูกมากๆ เข้ายิ่งทำให้ลูกหันไปหาเพื่อนในจินตนาการมากขึ้นไปอีก
            นอกจากนั้นพ่อแม่ไม่ควรขัดหรือดุลูกลูกเกี่ยวกับเพื่อนในจินตนาการว่าไม่มีอยู่จริง แต่ควรทำความเข้าใจและดึงให้เพื่อนของลูกเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว อาจจะถามถึงเขาบ้างว่ามีลักษณะอย่างไร เขาชอบอะไร ฯลฯ อีกไม่นานเด็กๆ จะโตขึ้นและมีเพื่อนในโลกแห่งคงวามเป็นจริง ส่วนเพื่อนในจินตนาการจะหายไปที่สุดค่ะ
         

ฉลาดด้านอารมณ์                      

เคล็ดลับปราบลูกอิจฉากัน

การที่ลูกอิจฉาพี่หรือน้องเพราะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ กลัวว่าตัวเองจะถูกแย่งชิงความรักไป คุณแม่ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือปล่อยให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากจะทำลายความสงบสุขแล้ว ยังไม่ส่งผลดีต่ออารมณ์ของลูกคนนั้นๆ ด้วยค่ะ
คุณแม่ควรสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้มีกิจกรรมที่ได้ร่วมมือร่วมใจกัน เช่น  ร่วมกันเล่นจิ๊กซอว์ต่อภาพให้สมบูรณ์ มอบหมายให้ดูแลสัตว์เลี้ยงในบ้านร่วมกัน เป็นต้น  ไม่ส่งเสริมลูกให้ทำกิจกรรมที่แข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน อาจเล่นสนุกๆ มีผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะได้บ้าง แต่ต้องไม่ถึงกับแข่งขันกันซะทุกเรื่อง และไม่แสดงอาการชื่นชมกับลูกที่ชนะมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกๆ รู้สึกว่า พ่อแม่จะรักเขาก็ต่อเมื่อเขายอดเยี่ยมกว่าใคร และควรสอนให้ลูกยอมรับได้หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งได้รับของขวัญพิเศษในวาระต่างๆ   เพราะในยามปกติลูกๆ ก็จะได้รับความรัก ความเอาใจใส่อย่างยุติธรรมไม่ต่างกัน
ที่สำคัญ ไม่ควรใช้ความรักมาเป็นเครื่องต่อรองการทำความดีของลูก เช่น ถ้าลูกคนไหนดื้อ หรืองอแง คุณแม่ก็ควรตำหนิติติงที่ตัวเขาโดยตรง ไม่เอาไปโยงกับคนอื่นด้วยการหันไปเอาใจลูกคนอื่นแทน  ทำให้ลูกสะสมความโกรธ เกลียด อิจฉา และไปลงที่พี่หรือน้องแทนความรักความอบอุ่นของพ่อแม่ค่ะ   

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 3 ปี 10 เดือน


ฉลาดเรียนรู้                  

เรียนรู้คำตรงข้าม   

            ลูกวัยนี้ มีพัฒนาการด้านความคิดและสติปัญญาที่มากขึ้น จึงเริ่มรู้จักและเปรียบเทียบและจัดหมวดหมู่ และสามารถใช้ภาษาถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้ออกมาเป็นคำพูดได้ เด็กวัยนี้จึงสามารถเข้าใจความหมายของคำเปรียบเทียบที่บอกลักษณะตรงกันข้ามง่ายๆ เช่น  เล็ก-ใหญ่    สั้น-ยาว  ดำ-ขาว ร้อน-เย็น ฯลฯ ได้
            คุณแม่อาจชวนลูกเล่นเพื่อสอนให้เขาได้เรียนรู้คำตรงข้ามง่ายๆ   เช่น ให้ลูกดูรูปสุนัข 2 ตัวที่มีลักษณะแตกต่างกน - ตัวเล็ก หางสั้นสีดำ/ ตัวใหญ่ หางยาว สีขาว แล้วถามลูกว่าตัวเล็ก-ใหญ่  ตัวไหนหางสั้น-ยาว ตัวไหนสีดำ-สีขาว เป็นต้น  และสามารถหาภาพอื่นๆ  มาเล่นเพื่อสอนการเรียนรู้คำในลักษณะนี้ให้ลูกได้อีก เพื่อความฉลาดเรียนรู้ของลูกค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว            

ชวนลูกเล่นกระต่ายขาเดียว


กระต่ายขาเดียวเป็นเกมสนุกๆ ที่สามารถเล่นกันได้ภายในบ้าน โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ ใช้เพียงแค่ร่างกายในการเคลื่อนไหว คุณแม่อาจชักชวนคุณพ่อกับลูกๆ มาเล่นด้วยกัน โดยเริ่มต้นคุณแม่เป็นกระต่ายวิ่งไล่จับคุณพ่อและลูกน้อย และผลัดกันเป็นกระต่าย เกมนี้นอกจากจะสร้างความสนุกสนานให้กับลูกได้แล้ว ลูกยังจะได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อขาที่ต้องกระโดดอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งได้ใช้แขนเพื่อยื่นไปแปะคนที่เล่น รวมทั้งลูกจะได้ฝึกการทรงตัวที่จะทำให้รู้ว่าควรสร้างสมดุลของร่างกายอย่างไรที่จะไม่ทำให้ล้ม
การที่ลูกมีความสุข สนุกกับเกมนี้ จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตที่ดี ส่งผลให้ต่อการทำงานของสมอง  และหากได้เล่นกันในกลุ่มเพื่อนๆ แล้วลูกก็จะได้เรียนรู้การเล่นเป็นกลุ่ม สร้างทักษะทางสังคมให้ลูกด้วยค่ะ

ฉลาดสื่อสาร                 

สอนให้ลูกรู้จักแสดงความคิดเห็น

          วัยนี้เป็นวัยช่างซัก ช่างถาม คุณแม่ไม่ควรดุหรือตัดบทลูกเพราะความรำคาญ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเป็นเด็กช่างสงสัยให้มากที่สุดจนกลายเป็นนิสัย และไม่จำเป็นที่คุณแม่ต้องตอบคำถามลูกได้หมดทุกข้อ แต่สามารถตอบว่าไม่รู้ แล้วมาช่วยกันหาคำตอบได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหาคำตอบเอง โดยมีคุณแม่คอยถามนำส่งเสริม และช่วยเหลือ
คุณแม่ควรต้องเปิดใจกับคำถาม คำตอบ และเหตุผลของลูก เพราะบางคำถามไม่ได้มีคำตอบเดียว และตัวคุณแม่ก็สามารถสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองลงไปด้วย แล้วถามความคิดเห็นลูกกลับไป  หรืออาจจะอธิบายในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ลูกน้อยของคุณแม่รู้จักคิด และค้นหาคำตอบต่างๆ ในเรื่องที่ตนสงสัยต่อไป  ผลพลอยได้ที่เพิ่มขึ้นคือ ลูกจะรู้จักแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยใช้เหตุผลของตนเอง ไม่ใช่อารมณ์ และลูกจะรู้จักรับฟังเหตุผลของคนอื่นเช่นกันค่ะ

 ฉลาดด้านอารมณ์                     

สอนลูกใกล้ชิดศาสนา พัฒนาพื้นฐานอารมณ์

            การที่คุณแม่สอนให้ลูกใกล้ชิดกับศาสนาตั้งแต่เล็กๆ จะสามารถช่วยให้ลูกเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงามได้โดยไม่ยาก เพราะทุกหลักธรรมคำสอนของทุกศาสนา ล้วนต่างสอนให้คนมีจิตใจที่ดี เสียสละ มีจิตใจที่รัก เมตตา และให้อภัยต่อผู้อื่น คุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ และเข้าใจแก่นแท้จากคำสอนของศาสนาที่ตนเองและครอบครัวนับถือ อีกทั้งควรที่จะให้ลูกได้เรียนรู้ในหลักคำสอนของศาสนาอื่นไว้ด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อลูกต้องอยู่ในสังคมร่วมกับคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ลูกจะได้รู้จักที่จะให้เกียรติกับคนเหล่านั้น โดยไม่ไปขัดแย้ง แต่จะเคารพในการกระทำและความคิด รวมถึงความเชื่อของผู้อื่น เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้อย่างสงบสุข
นอกจากนี้ ควรปลูกฝังด้วยการพาไปวัด การได้ฟังพระเทศน์ สวดมนต์ ทำบุญ  หรือได้รับรู้เรื่องที่เชื่อมโยงกับศาสนา เช่น พุทธประวัติ นิทานพื้นบ้าน นิทานชาดก เมื่อไปเห็นพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็กระตุ้นให้สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และศิลปะ เมื่อมีโอกาสก็พาไปเวียน เป็นต้น  การไปลูกวัด จึงไม่ใช่จะได้เรียนรู้ธรรมะหรือศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่จะเชื่อมโยงจิตใจของลูกให้อ่อนโยน มีสติ มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี สงบและใจเย็นลงได้ด้วยค่ะ