วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 4 เดือน


ฉลาดเรียนรู้      

                       สอนลูกเรียนรู้วินัย

การสอนลูกให้มีวินัย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก เด็กที่ไม่มีวินัยจะไม่สามารถควบคุมตนเองให้เรียนหนังสือ และปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือมารยาทของสังคมได้ ดังนั้นคุณแม่ควรฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ
วิธีที่ทำง่ายที่สุดเลย คือคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบให้เขาค่ะ สิ่งไหนที่เราอยากให้ลูกทำเราก็ต้องทำให้ดูค่ะ เช่น การอาบน้ำหรือกินข้าวให้เป็นเวลา เวลาลูกทำการบ้านที่ต้องนิ่งๆ หรือนั่งขีดเขียนนาน ๆ ต้องตกลงกันไว้ก่อนเลยว่าทำเสร็จถึงได้เล่น ไม่ควรอะลุ้มอล่วย เพราะเขาก็จะมีวิธีสร้างเงื่อนไขกับคุณแม่เรื่อยๆ
ส่วนเรื่องการช่วยเหลือตนเองด้านอื่นๆ คุณแม่ต้องทำทุกอย่างให้มีแบบแผน เช่น กลับมาถึงบ้าน จะทำอะไรก่อนหลัง เพื่อที่ง่ายต่อเขาด้วย ไม่ใช่ว่าเขาทำการบ้านเสร็จแล้ว กำลังเล่นเพลิน ๆ ก็มาจับอาบน้ำ หรือกลับถึงบ้านยังไม่ทำการบ้านจะจับลูกอาบน้ำซะแล้ว เด็กก็ไม่เกิดการเรียนรู้แล้ว
 เรื่องการมีวินัยนั้น ควรค่อยๆ ทำไปนะคะ เปลี่ยนแปลงกฎบ้างตามวัยที่โตขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติให้เหมือนกันและต้องหนักแน่นในสิ่งที่เราตั้งกฎไว้ค่ะ




ฉลาดเคลื่อนไหว

เล่นสนุกที่มือ.....ฉลาดที่สมอง

การที่เด็กได้ฝึกฝนการกล้ามเนื้อมัดเล็กของมือ จะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมอง และจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กจะพัฒนาไปได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  หากเด็กไม่มีโอกาสได้ใช้มือเพื่อเป็นการสื่อในการเรียนรู้  เพราะมือเป็นเสมือนครูที่สำคัญของเด็ก และเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่เขาได้ใช้มือให้มากๆ ค่ะ

ตัวอย่างกิจกรรมการใช้มือของเด็ก

  • ใช้มือสองข้างพร้อมกัน เช่น ทาแป้งตามตัว เล่นตบแปะ ติดกระดุม ร้อยเชือก 
  • เคลื่อนไหวนิ้วมือ เช่น ต่อบล็อกไม้ เสียบหมุดเป็นรูปต่างๆ 
  • ใช้มือและนิ้ว มือทั้งหมด เช่น ฉีกกระดาษ ปั้นดินน้ำมัน  เล่นดินเล่นทราย ละเลงสีด้วยมือและนิ้ว หรือใช้มือเล่นเงา  เช่น ทำเป็นรูปหมา รูปนกบิน งูเลื้อย ฯลฯ 
  • ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว เช่น ดีดลูกแก้ว ใช้นิ้วแตะและทากาว 
  • ใช้ข้อมือและ กล้ามเนื้อมือ  เช่น  ขีดเขียนด้วยสีเทียนหรือดินสอแท่งใหญ่ๆ การวาดภาพระบายสี  เปิดหน้าหนังสือ ตักอาหารด้วยตัวเอง ค้อนตอก เป็นต้น
การปล่อยให้ลูกได้ใช้มือเรียนรู้ สัมผัส และทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เท่ากับได้พัฒนากล้ามเนื้อมือ พัฒนาสมอง และการเรียนรู้ของลูก  เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมอัจฉริยะรอบด้านค่ะ

ฉลาดสื่อสาร

เล่านิทานต่างกับอ่านนิทานอย่างไร

คุณแม่ทราบไหมคะว่า การเล่านิทานและการอ่านนิทานนั้นมีความแตกต่างกัน
การ “เล่านิทาน” หมายถึง การที่คุณแม่พูดเล่าเรื่องราวในนิทาน โดยจะเล่าปากเปล่า หรือใช้ภาพในหนังสือประกอบการเล่าก็ได้ คำพูดอาจจะไม่ตรงกับข้อความในหนังสือ อาจจะมีบางส่วนเหมือนกันหรือคล้าย ๆ กัน การเล่านิทานให้ลูกฟัง จะช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องราว เป็นการขยายประสบการณ์ของเด็กเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ รอบตัวเขา และช่วยให้เด็กมีคำศัพท์และสำนวนต่างๆ มากขึ้น เป็นการช่วยให้ภาษายากๆ ในนิทานกลายเป็นการใช้คำง่าย ๆ ประโยคสั้นๆ แทน
ส่วนการ “อ่านนิทาน” หมายถึง การที่คุณแม่อ่านข้อความในหนังสือให้ลูกฟัง อาจใช้เสียงดัง-เบา สูง-ต่ำ เพื่อให้เรื่องที่อ่านสนุกสนานยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญจะต้องอ่านโดยไม่เพิ่มเติมคำพูดของตัวเองเข้าไป การฟังคุณแม่ อ่านนิทาน  ยิ่งถ้าได้เห็นตัวหนังสือ ภาพ และมองตามการชี้ตัวหนังสือที่กำลังอ่านไปด้วย จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการอ่าน-เขียนของเด็ก จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่า ตัวหนังสือหน้าตาแปลก ๆ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่แทนเสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำต่างๆ ลูกจะเริ่มสังเกตว่าตัวอักษรใดหรือคำใดแทนเสียงอะไร และเริ่มจำคำเหล่านั้นได้ ซึ่งความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้คือพื้นฐานของการอ่านเป็นคำ และการรู้จักตัวพยัญชนะ สระ ตัวสะกดและวรรณยุกต์ เพื่อประสมคำต่อไป
            การ “เล่านิทาน” และการ “อ่านนิทาน” จึงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมภาษาของเด็ก เด็กต้องเรียนรู้ภาษาพูดก่อน และเมื่อมีความสามารถในภาษาพูดพอสมควรแล้ว ก็จะเป็นฐานสำคัญให้สามารถเรียนรู้ภาษาเขียนหรือภาษาหนังสือต่อไป ดังนั้น ในเด็กเล็ก จึงมักจะเน้นการ “เล่านิทาน” มากกว่า ขณะที่เมื่อเด็กโตอย่างเด็กวัยนี้ขึ้น “การอ่านนิทาน” จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

                             เล่น...ให้ลูกอารมณ์ดีและหัวเราะได้

            ลูกของใครงอแง หรือเหน็ดเหนื่อยจากการเรียนช่วงเปิดเทอม จนคุณพ่อคุณแม่หัวหมุนไปด้วย ขอแนะนำวิธีทำให้ลูกอารมณ์ดีและหัวเราะได้ เพื่อให้ทั้งครอบครัวมีความสุขและอารมณ์ดีไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ
แค่อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างหมอนที่ใช้หนุนนอน เพียงแค่คุณแม่นำหมอนข้างหรือหมอนหนุนหัวเอามาลองตีเล่นกับลูก เพียงแค่นี้เขาก็รู้สึกสนุกอย่าบอกใครแล้วล่ะค่ะ แต่อย่าลืมเลือกหมอนนุ่มๆ ลูกจะได้ไม่เจ็บค่ะ
หรือคุณแม่อาจใช้วิธีการเล่าเรื่องสนุกๆ ตลกๆ ตอนที่ลูกยังเป็นทารกอยู่ เขาจะสนใจฟังเป็นพิเศษ อย่างเรื่องเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือเรื่องสนุกๆ ตลกๆ ต่างๆ หรือการผลัดกันทำเสียงต่างๆ แล้วให้อีกฝ่ายทายก็จะสร้างอารมณ์ที่ดีให้ลูกได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น