วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 3 เดือน


ฉลาดเรียนรู้                  

เคล็ดลับเติมเต็มสมาธิ เพื่อการเรียนรู้

            มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า สมาธิสัมพันธ์กับสมอง เพราะเวลาเด็กนิ่งเป็นเวลานานระยะหนึ่ง สมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) จะเกิดการทำงานของคลื่นสมองแอลฟา (Alpha) ได้ดี ทำให้เด็กเกิดการจำ การเรียนรู้ และการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย สมาธิจึงสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของเด็กด้วย
            เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถส่งเสริมสมาธิให้ลูก เพื่อส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาทำได้ดังนี้
  •      เข้าใจธรรมชาติของลูกว่าวัยนี้มีพัฒนาการเรียนรู้และอารมณ์อย่างไร เพื่อเสริมกิจกรรมได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม
  •      จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์สมาธิ เช่น บ้านไม่รก ไม่มีเสียงรบกวน เป็นต้น
  •      ดนตรีและศิลปะเป็นกิจกรรมที่ชวนให้เด็กๆ เพลิดเพลินและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นาน
  •      การอ่านสร้างสมาธิให้ลูกได้ เพราะขณะที่ฟังนิทาน เขาได้มีโอกาสฝึกการใช้ประสาทสัมผัส การมองสีหน้า ท่าทางของพ่อแม่ขณะเล่า ฝึก ประสาททาง หู ในการฟัง และปากในการพูดตาม รวมทั้งการใช้สมาธิจดจ่อในเรื่องราวที่พ่อแม่เล่า ซึ่งเด็กจะจดจำเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างไม่น่าเชื่อ
  •      สนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่า ลูกชอบหรือสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น ลูกสนใจเรื่องไดโนเสาร์ แมลง ฯลฯ ก็ควรกระตุ้นความอยากรู้ ด้วยการตั้งคำถามและข้อสงสัย แล้วท้าทายให้ลูกแสวงหาคำตอบ เช่น ค้นคว้าจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต ไปตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สมาธิจดจ่อในการศึกษาเรื่องที่สนใจยาวนานขึ้นได้...เมื่อมีสมาธิการเรียนรู้ของเด็กก็จะเกิดได้อย่างเต็มที่ค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

ช่วยลูกพัฒนาระบบการทรงตัว

            เด็กบางคนที่มีปัญหาระบบการทรงตัว รักษาความสมดุลของร่างกาย จะแสดงออกมาให้เห็นคือ เขาจะมีความยากลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว การทำงานระบบการทรงตัว มีความยากลำบากในการใช้ร่างกายพร้อมกันสองซีก เช่น มือหนึ่งจับกระดาษให้นิ่ง อีกมือหนึ่งเขียนหนังสือ ซึ่งเด็กบางคนจะไม่สามารถบังคับสองด้านให้ทำงานร่วมกันได้หรือหกล้มบ่อย ทรงตัวไม่ดี หรือเด็กบางคนก็ชอบกิจกรรมการเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่กำลังค้นหาการทรงตัวนั่นคือ เด็กจะชอบกระโดดเคลื่อนไหว อยู่นิ่งๆ ไม่ได้  ซึ่งรวมไปถึงการสับสนในเรื่องหลักตำแหน่ง เช่น ซ้าย ขวา หรือ บน ล่าง
            คุณแม่ช่วยลูกในการพัฒนาระบบการทรงตัวของลูกได้ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถนำมาเล่นกับลูกได้ เช่น...
  • เล่นสไลด์เดอร์ 
  • เดินบนพื้นไม้ไม่เรียบ หรือบนพื้นไม้แคบๆ
  • การวิ่งเหยาะ
  • เล่นตีลังกา
  • นั่งชิงช้า กระโดดแทรมโพลีน
            กิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ลูกได้เล่นอย่างสนุกสนาน ได้ปลดปล่อยพลังงานแล้ว ยังเป็นการช่วยเด็กฝึกการทรงตัวด้วยค่ะ

 ฉลาดสื่อสาร

ศิลปะช่วยเพิ่มทักษะภาษาให้ลูกได้อย่างไร

            คุณแม่อาจจะคิดไม่ถึงว่า ศิลปะจะช่วยเพิ่มทักษะภาษาให้แก่ลูกได้ แต่ศิลปะส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็กได้จริงๆ และมีงานวิจัยรองรับในเรื่องนี้ค่ะ
            ในปี ค.ศ.1999 ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเด็กโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งใจกลางเมืองวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการสอนให้อ่านโดยใช้ศิลปะร่วมด้วย กลุ่มที่สอง ได้รับการสอนอ่านในหลักสูตรปกติ
            ผลจากการศึกษาในเวลา 7 เดือนที่สอนเด็กทั้ง 2 กลุ่มพบว่า เด็กนักเรียนที่ได้รับการสอนอ่านโดยใช้ศิลปะร่วมด้วย ทำคะแนนด้านการอ่านเพิ่มขึ้นจากก่อนการสอน ได้สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนในหลักสูตรปกติ
            สอดคล้องกับการศึกษาของ Allen Richard นักวิจัยการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Kentucky ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รายงานการสังเกตเด็กอนุบาลในชั้นเรียนที่มีการสอนศิลปะ ซึ่งเขาพบว่า ร้อยละ 90 ของเด็กอนุบาลที่ได้รับการสอนศิลปะ จะอ่านได้ดีหรือดีกว่าความสามารถในระดับอนุบาล โดยเด็กจะมองคำศัพท์ทั้งคำเหมือนกับว่าเขามองชิ้นงานศิลปะ แล้วให้ความหมายกับคำนั้นๆ และใช้กระบวนการนี้เช่นเดียวกันเมื่อเห็นประโยค ทำให้เด็กเหล่านี้อ่านออกและจับใจความได้อย่างรวดเร็วนั่นเอ
เพราะฉะนั้น ยังไม่สายค่ะที่จะให้ลูกได้เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องศิลปะ เพราะนอกจากจะได้คุณค่าในแง่ของสุนทรียภาพ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังจะให้คุณค่าต่อทักษะด้านภาษาของลูกด้วยค่ะ
                   

ฉลาดด้านอารมณ์                                              

ตอบคำถาม ช่วยแก้อารมณ์เสียลูก

            การช่างถามและขี้สงสัยเป็นธรรมชาติของเด็กค่ะ เด็กๆ หลายคนมักจะถามนั่นถามนี่และอยากรู้เรื่องรอบตัวตลอดเวลา จนบางครั้งคุณแม่อาจไม่ใส่ใจกับคำถามของลูกเพราะคิดว่าเด็กถามไปโดยไม่ได้ต้องการคำตอบ หรือคุณแม่มัวแต่คุยกับเพื่อน หรือใส่ใจกับสิ่งอื่นจนลืมตอบคำถามของลูก นั่นก็อาจทำให้ลูกอารมณ์เสียหรือโมโหได้
เพราะฉะนั้นคุณแม่ไม่ควรละเลยกับคำถามของลูก ควรตอบคำถามลูกบ้างเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อลูกถามเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิน เรื่องญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เรื่องของตัวเขาเอง ซึ่งการให้คำตอบกับลูก จะช่วยให้เขาได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่อยากรู้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญการตอบคำถามของคุณแม่ยังจะทำให้อารมณ์ของลูกดีขึ้นด้วยค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น