วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 3 ปี 4 เดือน


ฉลาดเรียนรู้                  

ฉลาดเรียนรู้ด้วยการมีสมาธิ

            ลูกน้อยวัยซน มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ และมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่ง คุณแม่เลยอาจจะกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีสมาธิ จึงต้องหาวิธีที่จะให้ฝึกให้ลูกเรียนรู้การมีสมาธิ หลายคนเข้าใจว่าต้องพาลูกไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิหรือทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่ความจริงแล้ว กิจวัตรประจำวันในบ้านที่ลูกทำก็สามารถช่วยฝึกให้เขามีสมาธิหรือความจดจ่อได้เช่นกัน ซึ่งทำได้เช่น...
  • ปล่อยให้ลูกหัดทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ในเรื่องง่ายๆ อย่างการเช็ดตัว ทาแป้ง หรือใส่เสื้อผ้าเอง เพราะการทำกิจวัตรต่างๆ เหล่านี้ เด็กต้องใช้สมาธิจดจ่อ เพื่อบังคับควบคุมกล้ามเนื้อที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมนั้นๆ
  • เล่านิทานก่อนนอน เป็นวิธีที่ง่ายและทำได้ทันที เพราะการฟังนิทานก่อนนอน จะเป็นช่วงเวลาที่เขาเหมือนตกอยู่ในภวังค์ ซึ่งจะทำให้เขามีสมาธิมากกว่าเวลาอื่น
  • ชวนลูกออกกำลังกาย เช่น การโยนลูกบอลหรือการถีบจักรยาน เป็นกิจกรรมต้องมีใจจดจ่อมีสมาธิ จึงจะสามารถวิ่งหรือมุ่งตรงไปข้างหน้าได้ จะช่วยทำให้ลูกมีสมาธิที่ดีค่ะ     
  • สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่คุณแม่ใส่ใจว่าลูกสนใจกิจกรรมใดเป็นพิเศษ เช่น หากลูกชอบระบายสี ก็ควรนั่งระบายสีกับเขา เพื่อให้เขาเลียนแบบการกระทำของคุณแม่ เพราะผู้ใหญ่มักจะมีสมาธิกับการทำอะไรเป็นเวลานาน ลูกก็จะเรียนรู้และเลียนแบบคุณแม่โดยการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เมื่อเด็กมีสมาธิก็ส่งผลดีต่องวงจรการทำงานของสมองค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว            

พัฒนากล้ามเนื้อนิ้ว...ด้วยกรรไกรตัดกระดาษ

            คุณแม่รู้ไหมคะว่า นอกจากการจัดหาดินสอ- สีเทียน - กระดาษให้ลูกๆ ได้ขีดๆ เขียนๆ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้นิ้วและมือน้อยๆ ได้ออกกำลังกันแล้ว กรรไกรตัดกระดาษก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆ กับการใช้สายตาได้ ที่สำคัญช่วยเสริมสร้างสมาธิและความจดจ่อให้ลูกได้อย่างดี เพราะเขาจ้องค่อยๆ ตัด ซึ่งปัจจุบันมีกรรไกรสำหรับให้เด็กๆ ได้ใช้ฝึกตัดกระดาษโดยเฉพาะ ทำจากพลาสติก ไม่คม ปลายมน ทำให้ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะทำอันตรายให้นิ้วน้อยๆ และมีลูกเล่นต่างๆ เช่น ตัดเป็นเส้นตรง เป็นเส้นซิกแซก ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องลายเส้นต่างๆ ด้วย
            การใช้กรรไกรตัดกระดาษนี้ ค่อนข้างท้าทายความสามารถของเด็กๆ   เพราะนอกจากจะต้องฝึกหัดจับกรรไกร โดยวางนิ้วแยกกัน คือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้นิ้วกลาง นิ้วนางนิ้วก้อย แล้ว เด็กๆ ยังต้องออกแรงขยับนิ้วเข้าหากันและถ่างออก เพื่อให้สามารถตัดกระดาษออกได้ และเมื่อไรที่เขาสามารถตัดกระดาษได้ ความสนุกก็เริ่มก่อตัว และทำให้เขารู้สึกสนุกที่จะตัดฉับๆ ลงไป ซึ่งช่วงแรกคุณแม่อาจปล่อยให้ลูกตัดกระดาษตามใจชอบ โดยหากระดาษเหลือใช้มาให้ตัดเล่น หรือจะลองหากระดาษที่มีสีสันสดใสสักนิดก็ได้ และเมื่อไรที่สังเกตว่าเขาเริ่มตัดได้ดีขึ้น ก็ลองชวนลูกมาตัดกระดาษเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือจะต่อยอดด้วยการเอาชิ้นส่วนกระดาษที่ตัดมา แปะกาวลงบนสมุด ตกแต่งเป็นภาพดอกไม้ พระอาทิตย์ ตามแต่จินตนาการได้อีกด้วยค่ะ
 

ฉลาดสื่อสาร                 

บทบาทสมมติ ช่วยพัฒนาของลูก         

             
ลูกวัยอนุบาลจะโปรดปรานการเล่นบทบาทสมมุติมาก  เขาเริ่มมีเหตุผลในการพูดมากขึ้น สามารถสื่อสารโต้ตอบเรื่องราวได้มากขึ้นแล้ว  เป็นจังหวะที่ดีที่จะฝึกให้ลูกรู้จักพูดคุยในเรื่องราวที่นอกเหนือไปจากเรื่องราวในบ้าน เช่น  เป็นคุณหมอรักษาคนไข้ หรือเป็นคุณครูสอนหนังสือ  เป็นต้น
การเล่นบทบาทสมมติของเด็กในวัยนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของสมองของเด็กในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสารสิ่งที่เขาจดจำ รวมถึงการเลียนแบบพฤติกรรมของคนใกล้ชิด การเล่นบทบาทสมมติเป็นพื้นฐานของความฉลาดแบบสร้างสรรค์  เด็กจะได้ประโยชน์จากการเล่นประเภทนี้อย่างมาก เช่น สมมติว่าตนเองเป็นพ่อครัวในร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการจับตะหลิวผัดข้าวผัด ได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือ ฝึกการใช้สายตา การทอนเงิน เป็นการฝึกคิดเลข  การต้อนรับเพื่อน ซึ่งเป็นลูกค้าถือเป็นการฝึกการมีสังคมและการสื่อสารกับคนอื่นๆ  ได้เรียนรู้บทบาทที่ซับซ้อนมากขึ้น
บทบาทของคุณแม่ต่อการเล่นบทบาทสมมติของลูกคือ ปล่อยให้ลูกเป็นผู้นำการเล่นอย่างอิสระ ร่วมเป็นเพื่อนเล่นกับลูกด้วยก็ยิ่งดี  ร่วมพูดคุยกับลูก แล้วคุณแม่จะค้นพบหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่เพียงประสบการณ์ที่เขาพบเจอ แต่ยังรวมถึงความรู้สึกนึกคิดของลูกที่สื่อสารออกมาให้ได้รับรู้ผ่านการเล่นนี้ด้วย...แล้วคุณแม่จะแปลกใจกับความคิดของลูกค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์                      

พัฒนาอารมณ์ลูกด้วยเกม “หน้านี้อารมณ์ไหน”

ในวัย 3 ขวบขึ้นไป เด็กจะมีพัฒนาการมากพอที่จะดูและบอกได้ว่าสีหน้าของผู้คนที่เขาเห็นนั้นอยู่ในอารมณ์ไหน เช่น บอกได้ว่าคนยิ้มเพราะอารมณ์ดีใจ ร้องไห้คืออารมณ์เศร้า ฯลฯ เพราะเขารู้จักและเข้าใจการใช้คำบอกอารมณ์ความรู้สึกได้แล้ว เด็กจะเรียนรู้ได้เร็วและถูกต้อง หากคุณแม่คอยบอกให้เขารู้จักอารมณ์นั้นว่าใช้คำพูดอย่างไร เช่น “หนูเสียใจที่ตุ๊กตาหายใช่ไหม” “หนูตกใจที่ได้ยินเสียงดังใช่มั้ย”  เป็นต้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ลูกพูดบอกอารมณ์ตอนนั้นของเขาออกมา
การส่งเสริมลูกให้รู้จักอารมณ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น คุณแม่ควรชวนลูกเล่นด้วยการตัดภาพใบหน้าของคนที่อยู่ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งหัวเราะ ร้องไห้ โกรธ ดีใจ พอใจ ฯลฯ จากหนังสือหรือนิตยสาร แล้วให้ลูกบอกว่าภาพใบหน้าคนที่เห็นมีอารมณ์อย่างไร และตัวเขาเองเคยมีอารมณ์แบบนี้หรือไม่ เมื่อไหร่ ทำไมจึงมีอารมณ์เช่นนั้น  และเมื่อมีอารมณ์เช่นนั้นลูกทำอย่างไร เป็นต้น  การเล่นนี้จะช่วยตรวจสอบพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์  พัฒนาการด้านความคิดและสติปัญญา และพัฒนาการด้านภาษาของลูกได้ เรียกว่าตรวจสอบพัฒนาการ 360° อัจฉริยะรอบด้านนั่นเองค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น