วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 2 เดือน

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 2 เดือน

ฉลาดเรียนรู้                  

                         สอนลูกเรียนรู้ค่าจำนวนนับ

ในความคิดของเด็ก  “จำนวน” เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ลูกจะไม่รู้ว่า “สาม” คืออะไร หากมันไม่ได้อยู่ในรูปของ “ส้ม 3 ใบ” “ไก่ 3 ตัว”  เด็กวัย 4-5 ปี  พัฒนาการด้านการคิดและสติปัญญาอยู่ในขั้นที่สามารถนับเลขได้ 1-10 แต่รู้ค่าจำนวนเพียง 1-5 เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกเล่นฝึกหัดนับสิ่งของ และหยิบของตามจำนวน 1-5 ชิ้น (เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ)  ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น นับจำนวนส้มในตะกร้า นับจำนวนของเล่นของลูก เป็นต้น
เมื่อชวนกันนับจนลูกพอจะเข้าใจแล้ว  จากนั้นลองให้โจทย์ลูกนับเองว่ามีขนมกี่ชิ้นในจาน  มีดอกไม้กี่ดอกในแจกัน ฯลฯ  และขยับโจทย์ให้ยากขึ้นมาอีกว่า หยิบส้มให้แม่ 3 ผล  เอาบล็อก 4 ชิ้นใส่ตะกร้า เป็นต้น ลูกจะค่อยๆ เข้าใจในค่าของจำนวนนับค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

สร้างเสริมพัฒนาการผ่านการปั้น แกะ ตัด พับ

            พัฒนาการของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่เริ่มหัดอ่านหัดเขียนกันแล้ว ซึ่งก่อนที่เด็กจะสามารถจับและควบคุมอุปกรณ์การเขียนได้นั้น เขาจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีของส่วนต่างๆ ทั้งสมอง สายตา และมือ ให้สามารถควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กภายในมือได้เสียก่อน ซึ่งคุณแม่สามารถหากิจกรรมสนุกๆ ชวนลูกสนุกกับการใช้มือ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้ไม่ยาก เช่น
ปั้น : ไม่ว่าจะปั้นด้วยแป้งโดว์หรือดินน้ำมัน ล้วนช่วยให้ลูกได้ใช้ทั้งฝ่ามือและนิ้วทุกนิ้วในการปั้น คลึง นวด ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือที่ช่วยสอนปั้นแป้งเป็นรูปสัตว์หรือตัวการ์ตูนน่ารักๆ หลากหลาย ให้คุณแม่สามารถนำมาชวนลูกเล่นได้ไม่ยากค่ะ 
แกะๆ ลอกๆ : การเล่นแปะสติกเกอร์จะช่วยให้ลูกได้ใช้นิ้ว ในการ แกะ ลอก แผ่นกระดาษออกจากสติ๊กเกอร์ แล้วค่อยๆ แปะลงไปบนสมุด คุณแม่อาจชวนลูกสะสมสติกเกอร์ลายโปรด หรือหาหนังสือนิทานที่มีสติกเกอร์แถมมาให้ลูกอ่านและเล่นก็ได้ค่ะ
ตัด : การตัดกระดาษจะช่วยให้เด็กๆ สามารถใช้นิ้วควบคุมการเคลื่อนที่ของกรรไกรไปตามรูปทรงต่างๆ ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกกรรไกรตัดกระดาษปลายมนสำหรับเด็กมาให้ลูกหัดตัดกระดาษเล่นได้โดยไม่ห่วงเรื่องอันตราย
พับ : ลูกจะได้เพลิดเพลินไปกับการใช้นิ้วและ มือ เพื่อจับ พับ และเรียนรู้เรื่องรูปทรงต่างๆ เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม การแบ่งครึ่ง รวมไปถึงการสร้างสรรค์ของเล่นด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพับจรวด พับนก พับดาว แบบง่ายๆ
            เรียกว่า ได้ทั้งความสนุก ได้พัฒนาการทำงานประสานกันของสมอง มือ และตา ได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว ยังได้ความภาคภูมิใจจากผลงานของตนเองอีกด้วย

ฉลาดสื่อสาร

                         ตั้งคำถาม...ฝึกลูกคิดและสื่อสารกลับ

เราสามารถนำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของลูกมาใช้เพื่อฝึกทักษะด้านการสื่อสารให้เขาได้มากมาย รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ให้เด็ก เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ โดยทุกครั้งที่พูดคุย หรืออ่านหนังสือกับลูก ให้ถือโอกาสตั้งคำถามท้าทายให้ลูกคิดต่อ โดยใช้คำถามปลายเปิด ซึ่งเป็นคำถามที่มีคำตอบหลากหลาย ไม่มีผิด ไม่มีถูก ต้องอาศัยจินตนาการของเด็ก เช่น
“ถ้าโลกนี้ไม่มีไฟฟ้า ลูกคิดว่าโลกจะเป็นอย่างไร”
“ถ้าลูกมีปีก แต่คนอื่นไม่มี ลูกจะรู้สึกอย่างไร”
“ถ้าทุกคนมีตาเหมือนนกฮูก ยกเว้นตัวเรา เราจะรู้สึกอย่างไร”
ด้วยคำถามลักษณะนี้ สมองของเด็กจะทำงาน ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และสติปัญญา เพราะเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบหลากหลาย ไร้ขอบเขต ไม่มีถูก-ผิด เป็นคำถามให้เด็กกล้าคิด กล้าตอบ เป็นตัวของตัวเอง และรู้จักวิธีการตอบเพื่อจะสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งวิธีนี้คุณแม่ควรจะได้นำมาเล่นกับลูกบ่อยๆ ค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์                      

ปรับอารมณ์ลูกเล่นรุนแรง

          หลายครั้งที่คุณแม่ไม่สบายใจที่เห็นลูกเล่นกับเพื่อนแบบรุนแรง ซึ่งการที่ลูกเล่นแรงๆ น่าจะมีสาเหตุมาจากการเห็นคนรอบข้างเล่นกับเด็กแบบแรงๆ ทำ ให้เด็กเกิดการจดจำ และนำมาทำกับผู้อื่นเมื่อมีโอกาส คือเล่นแรงๆ กับเพื่อนๆ   ส่วนอีกสาเหตุน่าจะเกิดจากที่เด็กไม่รู้ว่าเล่นแบบไหนแค่ไหนแรงหรือไม่แรง ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ น่าจะเริ่มมาจากคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องฝึกเล่นและสอนให้ลูกเล่นเป็น โดยต้องเล่นกับลูกแบบเบาๆ ไม่ใช้ความรุนแรง และเมื่อลูกเล่นด้วยแรงกลับมา คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนว่าการลงแรงแบบที่ลูกทำนั้นจะทำให้ผู้อื่นเจ็บได้ และถ้าเล่นแรงๆ แบบนี้บ่อยๆ ลูกก็จะไม่มีเพื่อนเล่นอีกต่อไป ลูกต้องรู้จักใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่นด้วย
            นอกจากนี้เลียนแบบคนใกล้ตัวแล้ว  บางครั้งลูกอาจเอาอย่างในสื่อ เช่น ในละคร  เมื่อเห็นตัวละครตบตีกัน เด็กก็จะเลียนแบบ ไม่นานจะเข้าเป็นลักษณะประจำตัว คุณแม่ต้องบอกลูกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ และเล่นแบบนี้ก็ไม่ได้ เวลาเห็นลูกไปรังแกคนอื่นต้องบอกว่า วิธีนี้ไม่ถูกต้อง ลูกไม่ควรทำอย่างนี้ รวมถึงเวลาที่ดูโทรทัศน์ คุณแม่ควรเลือกรายการที่ประโยชน์และคอยอยู่ใกล้ ๆ อธิบายให้ลูกฟังถึงสิ่งที่เขากำลังดูอยู่ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น