วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการลูกน้อย วัย 4 ปี 4 เดือน

ลูกวัยนี้ชอบเล่นเป็นกลุ่มและชอบที่จะอยู่กับเพื่อนๆ มากกว่าเล่นกับพ่อแม่เหมือนก่อน การสนับสนุนให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนจะช่วยให้ลูกมีประสบการณ์การเรียนรู้และมีทักษะด้านอารมณ์และสังคม เข้าใจกฎกติกามากขึ้น มาดูกันค่ะว่าพัฒนาการ 360° อัจฉริยะรอบด้านของลูกวัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง          

ฉลาดการเรียนรู้
เด็กวัยนี้จะมีวิธีการแสวงหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งการตั้งคำถาม พร้อมรอคอยคำตอบอย่างตั้งใจ เพื่อให้คลายจากความสงสัย ซึ่งการตั้งคำถามนี้จะเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เพราะสมองมีการเชื่อมโยงความรู้กับสิ่งที่พบในชีวิตประจำวันได้

มีจินตนาการล้นเหลือ เมื่อคุณแม่ชวนลูกเล่นสนุกด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น ต่อบล็อกไม้ วาดรูประบายสี เจ้าตัวน้อยจะมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการสิ่งต่างๆ จนคุณแม่ประหลาดใจในความสามารถของลูก



ฉลาดเคลื่อนไหว
กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่พัฒนาได้ดีสมวัย จึงชอบกระโดดโลดเต้น มีทักษะด้านการเคลื่อนไหวที่ดี เช่น กระต่ายขาเดียว (กระโดดขาเดียว) ได้อย่างต่อเนื่องและนานขึ้น

เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว มีการทรงตัวได้ดี หากคุณแม่อยากรู้ว่าลูกมีกำลังขาแข็งแรงเพียงใด รองให้ลูกยืนขาเดียวแล้วจับเวลาดู

หากลูกได้เล่นกีฬาที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อขาอย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อก็จะแข็งแรงมากขึ้น

ลูกกระโดดขาเดียวอยู่กับที่และกระโดดขาเดียวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องได้บ้าง แต่ก็ยังมีล้มอยู่บ้าง



ฉลาดสื่อสาร
สามารถเล่นและพูดโต้ตอบได้ดี เวลาที่คุณแม่หรือคนใกล้ชิดแนะนำให้ทำอะไรเขาจะเข้าใจและยอมทำตามคำแนะนำนั้นๆ

เริ่มนำภาษาเหมือนกับผู้ใหญ่มาใช้สื่อสารกับพ่อแม่ เพื่อน  เช่น ชวนเพื่อนมาเล่นด้วย พูดคุยทำความรู้จักซึ่งกันและกัน



ฉลาดด้านอารมณ์
การแสดงออกด้านอารมณ์ดีขึ้น สามารถบอกความรู้สึกหรือความต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ได้ดี

แสดงออกความสนใจ ชื่นชมกับความสำเร็จของเพื่อนในการทำกิจกรรมต่างๆ ขณะที่ตัวเองก็มีความมานะอดทนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จ

รู้สึกผูกพันกับสถานที่และสิ่งแวดลอมที่เคยไป ด้วยการเรียกร้องให้พ่อแม่พาไปอีก

เมื่อเห็นเพื่อนหรือคนอื่นต้องการความช่วยเหลือลูกจะแสดงน้ำใจและให้ความช่วยเหลือด้วยดี

แม้จะเป็นตัวของตัวเองสูงและรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเด็กน่ารักของคุณพ่อคุณแม่อยู่



บทบาทของคุณพ่อคุณแม่หากลูกมีปัญหากับเพื่อนที่เล่นด้วยกัน ก็คือควรปล่อยให้ลูกได้แก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้วธีแก้ปัญหา หากเขาแก้ไขไม่ได้ พ่อแม่จึงค่อยเข้าไปช่วยเหลือค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น