วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

เมื่อลูกร้องกลั้น


อาการร้องกลั้นจะพบบ่อยในเด็กวัย 8 เดือน - 2 ขวบ ที่เด็กร้องไห้แล้วหยุดหายใจไปชั่วขณะ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปากเขียว ตัวเขียว และหมดสติไปสักพัก แต่ไม่เกิน 1 นาที เด็กบางคนตกใจง่าย เวลาตกใจมากๆ ก็จะร้อง ซึ่งขณะร้องนั้นไม่หายใจเข้าเราเรียก อาการเหล่านี้ว่า“การร้องกลั้น”

การร้องกลั้นทำให้เด็กขาดออกซิเจน ร่างกายของเด็กสามารถปรับเปลี่ยนการร้องเองเมื่อร่างกายขาดออกซิเจน แต่ในบางรายนั้นอาจร้องจนตัวเขียว ปากเขียว จนชีพจรเต้นอ่อนไปเลย ทำให้เด็กเกิดอาการอ่อนแรง ตัวซีดหรือเขียว แต่เมื่อร่างกายเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติตัวก็จะหายเขียวเอง

อาการร้องกลั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บจากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ลูกรู้สึกเจ็บ เช่น ประตูหนีบ หรือของหล่นทับ หรือเด็กที่ถูกขัดใจ อยากทำอะไร แล้วถูกคุณแม่ห้าม และสาเหตุสำคัญก็คือถูกตามใจจนเขารู้ว่าทำแบบนี้ทีไร คุณแม่ก็ตามใจทุกที เด็กจึงคงพฤติกรรมนี้ต่อไป

เมื่อลูกมีอาการร้องกลั้น คุณแม่ไม่ควรตกใจ ทำใจให้สงบก่อน และให้มั่นใจได้ว่าอาการนี้ไม่ทำให้ถึงชีวิตแน่นอน สิ่งที่คุณแม่สามารถช่วยลูกได้ในเบื้องต้นคือ ต้องทำให้ลูกรีบหายใจโดยเร็วที่สุด แต่ห้ามเขย่าตัวเขา อย่าทำให้ตกใจ อาจใช้วิธีโอบกอด เอามือลูบหลังเบาๆ และเรียกชื่อของลูก ให้เขารู้สึกอบอุ่น ซักพักเด็กก็จะหยุดลากเสียงร้องไห้ยาวเองค่ะ คุณแม่บางคนตกใจ ก็ยิ่งไปเร้าเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น เมื่อมีสติแล้ววิธีที่ดีที่สุด คือการกอดสัมผัสเพื่อปลอบโยนลูก ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ อย่างไรก็ตามอาการร้องกลั้นของเด็กวัยนี้ มักจะหายได้เองภายใน 2 ขวบ ถ้าเกินกว่านี้อาจแปลว่าคุณแม่รับมือลูกผิดวิธี คงต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อแก้ปัญหาค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น